Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 มกราคม 2564

Econ Digest

ธปท.ขยายเวลา มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ต่อลมหายใจ...สู้พิษโควิด

คะแนนเฉลี่ย
การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจต้องหยุดชะงักอีกครั้ง ซ้ำเติมความเปราะบางทางการเงิน การขาดสภาพคล่อง และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ล่าสุด ธปท. ได้ขยายเวลาให้ลูกหนี้รายย่อยสมัครรับความช่วยเหลือได้จนถึงเดือนมิ.ย. 2564  และให้ผู้ให้บริการทางการเงินเร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทุกประเภทตามความเหมาะสมกับประเภทสินเชื่อและคำนึงถึงความเสี่ยงของลูกหนี้    

แม้โควิดระลอกใหม่ จะกระทบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการปล่อยสินเชื่อใหม่ แต่การขยายเวลาให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ น่าจะช่วยชะลอแรงกดดันลงได้บางส่วน ซึ่งจะทำให้ภาพรวมสินเชื่อปีนี้อาจไม่ชะลอตัวลงมาก ขณะที่การเร่งปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้การผ่อนคลายเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ของธปท. ที่จะมีผลถึงสิ้นปี และการเร่งจัดการหนี้เสียในเชิงรุกก็น่าจะช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของ NPLs ได้ โดยในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ปี 2564 สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศจะโตราว 3.0-4.5% เทียบกับคาดการณ์ปี 2563 ที่ 4.5% สัดส่วน NPLs ขยับขึ้นมาอยู่ที่ราว 3.53% ต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2564 เทียบกับคาดการณ์ที่ 3.35% ต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2563

สิ่งที่ต้องติดตามหลังจากนี้คือ จำนวนลูกหนี้ที่เข้ามาตรการช่วยเหลือรอบใหม่อาจจะกลับมาเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินในส่วนนี้ นอกจากจะเป็นเครื่องชี้ระดับแรงกดดันที่มีต่อปัญหาคุณภาพหนี้ในพอร์ตสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์แล้ว ยังมีผลต่อแนวทางการตั้งสำรองฯ ด้วยเช่นเดียวกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การขยายเวลามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รอบนี้เป็นการดำเนินการเบื้องต้น เพราะแนวทางเกือบทั้งหมดเป็นการต่ออายุมาตรการฯ รายย่อยระยะที่ 2 ซึ่งแม้ว่าจะไม่ครอบคลุมภาคธุรกิจ แต่คาดว่าสถาบันการเงินต่าง ๆ จะติดตามดูแลและให้ความช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง  ​



Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest