Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 ตุลาคม 2564

Econ Digest

บาทอ่อนค่ารับสัญญาณ...เฟดเตรียมลด QE พ.ย. 64 และจะจบกลางปี 65 พร้อมรอจังหวะขึ้นดอกเบี้ย

คะแนนเฉลี่ย


ในการประชุม 21-22 ก.ย. 2564 เฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.00-0.25% และคงวงเงินซื้อสินทรัพย์ผ่านมาตรการ QE ตามเดิม อย่างไรก็ดีประธานเฟดได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะเริ่มลดวงเงินซื้อพันธบัตรผ่านมาตรการ QE ในเดือนพ.ย. 2564 และมาตรการ QE จะสิ้นสุดลงกลางปี 2565 ขณะที่แผนภาพ Dot Plot สะท้อนมุมมองเจ้าหน้าที่เฟดครึ่งหนึ่งว่า มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่เฟดจะเริ่มขยับดอกเบี้ยในปีหน้า ซึ่งเร็วขึ้นกว่ามุมมองจาก Dot Plot รอบก่อน แม้จะยังต้องรอประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและการระบาดของโควิดในช่วงเวลานั้นอีกที

จากผลการประชุมเฟด เงินบาทอ่อนค่าทดสอบแนว 33.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าที่สุดในรอบ 4 ปีในช่วงเช้าของวันที่ 23 ก.ย. ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในเวลาต่อมา ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เงินบาทที่อ่อนค่าลงดังกล่าว น่าจะสะท้อนข่าวการทำ QE tapering ของเฟดไปค่อนข้างมากพอสมควรแล้ว ซึ่งทำให้โอกาสการอ่อนค่าเพิ่มเติมของเงินบาทในระยะข้างหน้าจะขึ้นอยู่กับว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และข้อมูลตลาดแรงงานจะออกมาดีกว่าคาดหรือไม่ เพียงใด แต่ในทางตรงกันข้าม หากตัวเลขเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าคาด เงินดอลลาร์ฯ ก็อาจจะย่อตัวลงมาได้เช่นกัน

สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า จุดจับตาสำคัญที่จะมีผลต่อทิศทางค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปี 2564 อยู่ที่ 1) การปรับลดมาตรการ QE ของเฟด และ 2) สถานการณ์โควิดและการเร่งฉีดวัคซีนในประเทศ โดยหากประเมินภาพจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และไทยแล้ว สัญญาณการเตรียมถอนตัวออกจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ก่อนสิ้นปี 2564 เป็นปัจจัยสำคัญที่จะหนุนให้เงินดอลลาร์ฯ มีทิศทางแข็งค่าขึ้น และทำให้เงินบาทมีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่ากว่าระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ เป็นส่วนใหญ่ในช่วงที่เหลือของปี ดังนั้น หากพัฒนาการของเรื่องราวต่างๆ ทำให้เงินบาทโน้มอ่อนค่าชัดเจนขึ้น ผู้นำเข้าอาจต้องพิจารณาทยอยทำสัญญาฟอร์เวิร์ดเพื่อซื้อดอลลาร์ฯ ล่วงหน้าเพื่อบรรเทาผลกระทบบางส่วน​

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest