Display mode (Doesn't show in master page preview)

11 สิงหาคม 2565

Econ Digest

หากแบงก์เลื่อนขึ้นดอกเบี้ย... กระทบระบบแบงก์ไทยอย่างไร?

คะแนนเฉลี่ย

​หลังสัญญาณจากการประชุม กนง. เดือน มิ.ย. สะท้อนว่าไทยคงเข้าใกล้จังหวะการเริ่มปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ประกอบกับแรงกดดันเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ทำให้น่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปี 65 และเพิ่มเติมอีกในช่วงต้นปี 66  โดยจังหวะเวลาและรูปแบบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะมีผลกระทบโดยตรงต่อแนวโน้มส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของระบบธนาคารไทย โดยเฉพาะในปี 66 ทั้งนี้ ในภาวะปกติ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำและเงินให้กู้ยืมพร้อมๆ กัน จะส่งผลบวกต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อประมาณ 55-70% ของสินเชื่อรวมทั้งหมดจะอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยลอยตัว จึงทำให้ได้รับประโยชน์ทันทีในไตรมาสที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มาตรฐานอย่างเช่น MOR, MLR และ MRR ขณะที่ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำในปัจจุบัน มีสัดส่วนประมาณ 25% ของเงินฝากทั้งหมด โดยธนาคารพาณิชย์จะทยอยรับรู้ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหลังเงินฝากประจำล็อตเดิมครบกำหนด นั่นคือ อีก 3 เดือน 6 เดือน และ 12 เดือนข้างหน้า  

อย่างไรก็ตาม ในสภาวะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูงดังเช่นปัจจุบัน ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำก่อน (หรือปรับขึ้นภายหลังจากที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่นาน) ขณะที่การปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มาตรฐานมีโอกาสเลื่อนจังหวะเวลาออกไปเพื่อช่วยเหลือลูกค้า และจากการประเมินผลกระทบเบื้องต้นต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin: NIM) ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในกรณีที่มีการเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มาตรฐานออกไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้มาตรฐานเลื่อนออกไป 3-6 เดือน ผลกระทบต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะปรากฏชัดเจนในปี 66 เนื่องจากต้องทยอยรับรู้ต้นทุนเงินฝากประจำที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในช่วงไตรมาส 3-4 ของปี 65  โดยการเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มาตรฐานออกไป 3-6 เดือน จะส่งผลกระทบต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในปี 65 ประมาณ 0.04-0.06% และกระทบปี 66 ประมาณ 0.08-0.18% เมื่อเทียบกับกรณีที่กำหนดให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำและเงินกู้ปรับขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายในภาวะปกติ

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น