Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 ธันวาคม 2565

Econ Digest

แบงก์ไทย ปี 66 ภาพธุรกิจที่ไม่เหมือนเดิม แนวโน้มธุรกิจธนาคาร ปี 2566 ฟื้นตัวแบบระมัดระวัง เช่นเดียวกับทิศทางเศรษฐกิจ

คะแนนเฉลี่ย

​        ในปี 2565 ผลการดำเนินงานของธุรกิจแบงก์ไทยในช่วง 9 เดือนแรก พบว่าทยอยปรับตัวดีขึ้นจากปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดการณ์ว่าทั้งปี 2565 ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทย (แบงก์ไทย) จะมีกำไรจากการดำเนินงาน (ก่อนสำรองและภาษี) เติบโตจากปีก่อนประมาณ 12.4% อยู่ที่ประมาณ 4.5 แสนล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการขยายตัวต่อเนื่องของสินเชื่อ ซึ่งหากผนวกกับค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯ ที่ลดลงจากปีก่อน ที่มีการตั้งสำรองฯ เชิงรุกแล้ว คาดว่าระบบแบงก์ไทยจะมีกำไรสุทธิประมาณ 2.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 34%
 
        อย่างไรก็ตาม หากมองแนวโน้มสำหรับปี 2566 ธุรกิจแบงก์ไทยน่าจะให้ภาพการฟื้นตัวที่ระมัดระวัง เช่นเดียวกับทิศทางของเศรษฐกิจ ขณะที่จุดจับตาหลักยังคงมีหลายด้าน ซึ่งกระทบต่อภูมิทัศน์การทำธุรกิจและการแข่งขัน (Financial Landscape) ให้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนี้

1. ภูมิทัศน์ที่ธุรกิจหลักจะเติบโตในกรอบจำกัด

  • สินเชื่อขยายตัวในกรอบระมัดระวัง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยในปี 2566 จะเติบโตในกรอบจำกัด ราว 4.2-5.2% (ค่ากลาง 4.7%) เทียบกับปี 2565 ที่คาดว่าจะโต 5.0% ตามผลของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และผลของมาตรการให้ความช่วยเหลือที่หมดลง
  • เอ็นพีแอลอาจไม่ลดลง โดยคาดการณ์ว่าเอ็นพีแอลของระบบธนาคารพาณิชย์ (ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยและธนาคารต่างชาติ) ณ สิ้นปี 2566 น่าจะอยู่ในกรอบ 2.55-2.80% เทียบกับ 2.65-2.75% ที่คาดไว้ ณ สิ้นปี 2565 นอกจากนี้ในปี 2566 จะไม่ได้มีมาตรการช่วยเหลือพิเศษให้กับลูกหนี้เป็นการทั่วไปเพิ่มเติมแล้ว การลดเอ็นพีแอลจึงต้องฝากความหวังไว้ที่การปรับโครงสร้างหนี้จากสถาบันการเงินแต่ละแห่งเป็นหลัก
  • การขึ้นดอกเบี้ยในภาวะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าฟื้นตัวจำกัด จะมีผลบวกที่น้อยลงต่อส่วนต่างดอกเบี้ย (%NIM) เมื่อเข้าสู่ปี 2566
  • ภาระการตั้งสำรองฯ ที่อาจยังไม่สามารถลดลงมากได้นั้น จะยังกดดันกำไรสุทธิ คาดการณ์
  • กำไรสุทธิของระบบแบงก์ไทยในปี 2566 ที่คงจะขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ในปีนี้ที่ 34%


2. ภูมิทัศน์ที่ต้องเร่งแสวงหาธุรกิจใหม่

  • โจทย์การช่วยเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อและขยายโอกาสทางธุรกิจ ทำให้แบงก์ไทยยังเดินหน้า
  • ปล่อยสินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending) ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าสินเชื่อดิจิทัลทั้งในบริบททั่วไป (ไม่ใช่นิยาม ธปท.และเก็บข้อมูลจากผู้ประกอบการจำนวน 8 ราย) คงขยายตัวประมาณ 10% มาที่ยอดคงค้างประมาณ 56,050-60,720 ล้านบาท
  • นอกเหนือจากธุรกิจด้านสินเชื่อดิจิทัลแล้ว คาดว่าจะเห็นการให้น้ำหนักกับการพัฒนาธุรกิจด้านอื่นๆ ด้วย นั่นคือ ธุรกิจที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets) ธุรกิจต่างประเทศ ไปจนถึงธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่ธุรกิจการเงินโดยตรง อาทิ ธุรกิจอาหารและสันทนาการ เป็นต้น


3. ภูมิทัศน์ของกติกาที่เร่งการแข่งขันในธุรกิจการเงินมิติต่างๆ

  • อีกความแตกต่างสำคัญในปี 2566 จะมาจากเกณฑ์การกำกับดูแลที่เปลี่ยนแปลงไปในหลายมิติ ซึ่งเป็นไปตามแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยของ ธปท. เช่น การออกใบอนุญาต Virtual Bank, การเพิ่มบทบาทนอนแบงก์ในธุรกรรม FX, การพัฒนาเงินสกุลดิจิทัลของธนาคารกลาง รวมถึงนโยบายการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest