Display mode (Doesn't show in master page preview)

10 มกราคม 2566

Econ Digest

ตลาดรถยนต์ BEV...ตัวเลือกที่ถูกจับตามากขึ้น คาดยอดขายปี 66 เพิ่มเป็นเท่าตัวจากปี 65

คะแนนเฉลี่ย
ในอนาคต BEV อาจเป็นตัวเลือกแรกมากขึ้นของคนไทย...สำคัญที่การเร่งเป็นฐานผลิตและเพิ่มจุดชาร์จให้ทั่วถึง  
  • การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของตลาดรถยนต์ BEV ไทยในปี 2565 เป็นผลสำคัญมาจากมาตรการกระตุ้นการซื้อรถยนต์ BEV โดยการให้ส่วนลดราคา ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะทำให้ตลาดรถยนต์ BEV ปี 2565 นี้จะเพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 12,000 คัน หรือขยายตัวไม่ต่ำกว่า 6 เท่าจากปีก่อน และในปี 2566 ยังมีโอกาสที่ยอดขายรถยนต์ BEV จะเพิ่มอีกเป็นเท่าตัว
  • ทว่า ปัจจัยที่กระตุ้นการซื้อรถยนต์ BEV โดยหลักแล้วยังคงเป็นเรื่องของราคาที่ได้รับส่วนลดอยู่ ประกอบกับผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ยังไม่นิ่ง และการชาร์จไฟฟ้าที่ยังมีความไม่สะดวกอยู่ ทำให้หากไม่สามารถแก้ประเด็นอ่อนไหวเหล่านี้ได้ ก็อาจจะมีผลต่อการเติบโตที่ช้าลงหลังปี 2568 ซึ่งมาตรการส่วนลดราคานี้จะสิ้นสุดลง
  • ดังนั้น การทำให้ราคาขายรถยนต์ BEV สามารถแข่งขันได้กับรถประเภทอื่นหลังจบมาตรการ และการพัฒนาสร้าง Ecosystem ที่จะช่วยให้ผู้ใช้รถอยู่กับรถยนต์ BEV ที่ยังเป็นเทคโนโลยีใหม่ในตลาดได้อย่างมั่นใจและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ด้วยการเร่งขยายจุดชาร์จไฟฟ้าสาธารณะอย่างทั่วถึง มากพอ และใช้งานง่าย และการเร่งให้ไทยขึ้นเป็นฐานการผลิตรถยนต์ BEV ของค่ายรถต่างๆ ที่ขายในไทยให้ได้มากที่สุด จึงเป็นเรื่องสำคัญ

        ในช่วงที่ผ่านมา มีหลายปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์ของผู้บริโภค โดยนอกจากความพร้อมและสภาพเศรษฐกิจที่มีผลต่อผู้ซื้อรถแต่ละรายแล้ว วิกฤตโควิด เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้คนหลีกเลี่ยงการใช้รถสาธารณะและน่าจะอยากมีรถเป็นของตนเอง แต่ในทางตรงข้ามความจำเป็นต้องใช้รถก็อาจจะน้อยลงเพราะการทำงานที่บ้าน ขณะเดียวกัน ปัญหาคอขวดอุปทานที่ถูกซ้ำเติมด้วยผลพวงของเหตุการณ์ในยูเครน ทำให้เกิดการขาดแคลนชิ้นส่วนอย่างชิปซึ่งกระทบการผลิตและระยะเวลาการได้รับรถยนต์ที่ผู้ซื้อจำเป็นต้องรอ ซึ่งปัจจุบัน ผลจากวิกฤตโควิดและการขาดแคลนชิปก็ได้บรรเทาลงมาพอสมควรแล้ว นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของทางการจากเกณฑ์การกำกับสินเชื่อใหม่ที่มุ่งคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งในภาพรวมมองว่าไม่ได้ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อรถสำหรับผู้ที่มีความพร้อม แม้ผู้ซื้อบางกลุ่มอาจจะเลื่อนการตัดสินใจและรอความชัดเจนอยู่บ้างซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีสัดส่วนไม่มาก ขณะที่บริษัทเช่าซื้อต่างก็ทยอยประกาศความพร้อมในการบริการภายใต้เกณฑ์ใหม่เพื่อดูแลประเด็นนี้ และปัจจัยสำคัญคือ การมาของรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ล้วน (BEV) โดยค่ายรถแบรนด์ใหม่สำหรับไทยแต่เป็นแบรนด์ระดับโลก ซึ่งเป็นแรงกระเพื่อมที่จะมีผลต่อเนื่องต่อการตัดสินใจซื้อรถของผู้บริโภคในช่วงข้างหน้าด้วย
        ทั้งนี้ หลังจากรัฐบาลประกาศมาตรการสนับสนุนการซื้อรถยนต์ BEV ด้วยการให้เงินส่วนลดราคารถยนต์ โดยมีเงื่อนไขว่าค่ายรถจะต้องตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ BEV ในประเทศ และผลิตให้ได้ปริมาณที่สามารถชดเชยการนำเข้ามาจำหน่ายทั้งหมดให้ได้ภายในปี 2568 ส่งผลให้ตลาดรถยนต์ BEV ในประเทศของไทยปี 2565 นี้ คึกคักขึ้นอย่างมาก และทำให้ยอดจดทะเบียนรถยนต์ในช่วง 10 เดือนแรกของปีพุ่งสูงถึง 7,109 คัน ขยายตัวถึง 332% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยทิศทางการตอบรับต่อรถยนต์ BEV ในประเทศที่ดีมากอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการยอมรับแบรนด์รถยนต์จีนซึ่งเป็นค่ายรถหน้าใหม่ที่เข้ามาทำตลาดไม่นานในประเทศหลายๆ แบรนด์ รวมถึงการตอบรับต่อแบรนด์รถยนต์ตะวันตก ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ามีโอกาสที่ตลาดรถยนต์ BEV ในปี 2565 นี้จะเพิ่มขึ้นไปสู่ระดับไม่ต่ำกว่า 12,000 คันได้ หรือขยายตัวไม่ต่ำกว่า 6 เท่าจากปีก่อนที่ทำได้เพียง 1,954 คัน ถ้าหากการส่งมอบรถยนต์ของค่ายรถสามารถทำได้อย่างต่อเนื่องตามแผน และในปี 2566 มีโอกาสที่ยอดขาย BEV จะเร่งขึ้นกว่าเท่าตัวจากปี 2565
        สัญญาณการตอบรับรถยนต์ BEV ดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนผ่านผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่พบว่า 29% ของกลุ่มตัวอย่าง จะเลือกซื้อ BEV ซึ่งสัดส่วนนี้นับว่าสูงเกินคาดหากเทียบกับสัดส่วนยอดขาย BEV ที่อยู่ที่เพียง 2-3% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดต่อปีที่ 850,000-900,000 คัน ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ราคารถยนต์ BEV ยังเป็นตัวแปรหลักที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อ เนื่องจากกว่า 2 ใน 3 ของผู้ตอบว่าจะเลือกซื้อ BEV นั้น คิดจะซื้อในช่วงก่อนปี 2568 ซึ่งเป็นช่วงที่มีมาตรการให้เงินส่วนลดจากภาครัฐ และส่วนใหญ่จะเลือก BEV แบรนด์จีนที่ราคาถูกกว่าแบรนด์อื่น


        นอกจากนี้ ความกังวลเกี่ยวกับเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ยังไม่นิ่งและความไม่สะดวกในการชาร์จไฟฟ้า เป็นอีกประเด็นสำคัญเช่นกัน สะท้อนจากผลสำรวจที่พบว่า ราว 48% ของผู้ที่จะซื้อรถ จะเลือกรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด ซึ่งเป็นสัดส่วนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับรถยนต์อื่นๆ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า หากในระยะข้างหน้า ผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดรถยนต์ BEV ทั้งค่ายรถยนต์ และผู้ให้บริการจุดชาร์จไฟฟ้าสาธารณะ สามารถลดอุปสรรคประเด็นนี้ลง ก็มีโอกาสที่ผู้ที่เดิมคิดจะซื้อรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด จะเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ BEV ได้ไม่ยาก เพราะโดยทั่วไปแล้วราคารถยนต์ BEV มักถูกกว่ารถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด และความยุ่งยากในการซ่อมบำรุงก็มีน้อยกว่าเพราะมีชิ้นส่วนที่น้อยลงมาก   
        ดังนั้น เพื่อให้ตลาดรถยนต์ BEV เติบโตได้อย่างต่อเนื่องในอนาคตนั้น นอกจากการมุ่งเน้นเรื่องราคาขายที่สามารถแข่งขันได้กับรถประเภทอื่นแล้ว จำเป็นจะต้องมีการสร้าง Ecosystem ที่จะช่วยให้ผู้ใช้รถอยู่กับรถยนต์ BEV ที่ยังเป็นเทคโนโลยีใหม่ในตลาดได้อย่างมั่นใจและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ด้วยการเร่งพัฒนา 2 ปัจจัยหลักให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศ ภายในปี 2568 ก่อนที่มาตรการหลักในการกระตุ้นตลาดรถยนต์ BEV ในปัจจุบันจะสิ้นสุดลง ได้แก่
  1. การเร่งขยายจุดชาร์จไฟฟ้าสาธารณะอย่างทั่วถึง มากพอ และใช้งานได้ง่าย เพราะความไม่เชื่อมั่นในเรื่องการหาสถานที่ชาร์จไฟ เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้ตอบแบบสอบถามยังไม่คิดจะซื้อรถยนต์ BEV โดยสำหรับผู้พักอาศัยในสถานที่ที่ไม่สามารถติดตั้ง Wall Charger เช่น คอนโดมิเนียม ตึกแถว การมีจุดชาร์จไฟฟ้าสาธารณะที่ทั่วถึง มากพอ และใช้งานได้ง่าย จึงยิ่งจำเป็น
  2. การเร่งให้ไทยขึ้นเป็นฐานการผลิตรถยนต์ BEV ของค่ายรถต่างๆ ที่ขายในไทยให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ในอนาคตมีโอกาสที่จะตั้งราคาขาย BEV ในไทยได้ถูกลง จากการแข่งขันกันระหว่างค่ายรถที่เพิ่มขึ้น และการไม่ต้องเสียค่าขนส่งหรือภาษีนำเข้ารถยนต์ BEV ในยี่ห้อที่ไม่ได้ผลิตในประเทศที่มี FTA กับไทย นอกจากนี้ ในประเด็นความกังวลเรื่องเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ยังไม่นิ่ง และค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแบตเตอรี่นั้น แม้การพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่จะเป็นปัจจัยภายนอกที่ควบคุมได้ยาก แต่จากเกณฑ์ที่ภาครัฐกำหนดให้ค่ายรถที่เข้าร่วมโครงการรับเงินอุดหนุนการซื้อรถยนต์ BEV ต้องลงทุนเกี่ยวกับแบตเตอรี่รถยนต์ในไทยด้วย จึงทำให้การเข้าร่วมโครงการของค่ายรถยิ่งถ้ามีมาก ก็ยิ่งจะเพิ่มโอกาสในการพัฒนาแบตเตอรี่ในประเทศให้เติบโตได้มากขึ้น และช่วยลดความกังวลเรื่องแบตเตอรี่ในอนาคตลงได้ ขณะที่ การลงทุนผลิตรถยนต์ BEV ในไทยของค่ายรถต่างๆ ยิ่งมีมาก ก็จะยิ่งช่วยลดปัญหาในเรื่องการหาอะไหล่ทดแทน และอาจช่วยลดอุปสรรคเรื่องราคาเบี้ยประกันในทางอ้อมด้วย  
        นอกจากนี้ การพัฒนาห่วงโซ่ซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องทั้งในด้านการให้บริการสินเชื่อ การประกันภัย การซ่อมบำรุง และตลาดมือสอง ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการควบคู่กันเพื่อสร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภคที่ต้องการใช้หรือผู้ซื้อรถยนต์ BEV ไม่แตกต่างจากรถยนต์อื่นๆ ซึ่งสุดท้ายแล้ว Ecosystem ที่ดี ย่อมจะมีผลในการกำหนดอนาคตของตลาดรถยนต์ BEV และอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยในยุคถัดไป

 


Click
 ชมคลิป ตลาดรถยนต์ BEV...ตัวเลือกที่ถูกจับตามากขึ้น คาดยอดขายปี 66 เพิ่มเป็นเท่าตัวจากปี 65

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น