Display mode (Doesn't show in master page preview)

4 กุมภาพันธ์ 2568

Econ Digest

ธุรกิจไบโอดีเซลไทยปี 2568 กำลังการผลิตล้น ความต้องการโตต่ำ กดดันรายได้ลด อุตสาหกรรมไบโอดีเซลเผชิญปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินตั้งแต่ปี 2564

คะแนนเฉลี่ย
  • ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมการผลิตไบโอดีเซล (B100) เผชิญปัญหากำลังการผลิตส่วนเกิน โดยในปี 2564 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 53% และลดสู่ระดับราว 39% ในปี 2567
  • รายได้ธุรกิจไบโอดีเซลในปี 2568 มีทิศทางลดลงจากปี 2567 เนื่องจากอุปสงค์ไบโอดีเซลมีแนวโน้มเติบโตไม่มากที่ 1.1% แม้ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐที่คาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และการขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล
  • ขณะที่ในปี 2568 ราคาไบโอดีเซลมีแนวโน้มปรับตัวลงตามราคาน้ำมันปาล์มดิบ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตไบโอดีเซล


        อุตสาหกรรมไบโอดีเซล (B100) ในไทยขับเคลื่อนโดยนโยบายภาครัฐ ที่สนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ รวมถึงไบโอดีเซลซึ่งผลิตจากน้ำมันปาล์มดิบเป็นหลัก เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันฟอสซิลนำเข้าและส่งเสริมเกษตรกรปาล์ม ทั้งนี้ ภาครัฐจะปรับเพิ่มสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว เพื่อพยุงราคาปาล์มในช่วงที่ผลผลิตปาล์มมีมาก นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้กำหนดให้น้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลที่ขายในไทยทั้งหมดต้องมีไบโอดีเซลผสม ดังนั้น นโยบายภาครัฐจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมไบโอดีเซลที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม

กำลังการผลิตส่วนเกินของอุตสาหกรรมไบโอดีเซลไทย
        ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมการผลิตไบโอดีเซลกำลังเผชิญปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินนับตั้งแต่ปี 2564 (รูปที่ 2 และ 3) ที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 53% และลดสู่ระดับราว 39% ในปี 2567 โดยกำลังการผลิตได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากในปี 2563 ภาครัฐกำหนดให้น้ำมันดีเซลที่มีการผสมไบโอดีเซลราว 10% (B10) เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานของประเทศแทนที่น้ำมันดีเซลที่มีการผสมไบโอดีเซลราว 7% (B7) นอกจากนี้ ยังมีแรงจูงใจด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก BOI เพื่อส่งเสริมการลงทุนในกิจการไบโอดีเซลที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหรือมีการวิจัยและพัฒนา ทำให้ผู้ประกอบการเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจและขยายกำลังการผลิต โดยการก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี
ทั้งนี้ ปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินทำให้ผู้ประกอบการต้องเผชิญการแข่งขันที่สูง โดยเฉพาะรายเล็กและกลางที่ประสบอุปสรรคในการแย่งชิงความต้องการที่จำกัดในตลาด นอกจากนี้ ต้นทุนต่อหน่วยการผลิตยังคงอยู่ในระดับสูง เพราะผู้ผลิตไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการประหยัดจากขนาด (economies of scale) ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวคาดว่าจะดำเนินต่อเนื่องไปในปี 2568

รายได้ธุรกิจไบโอดีเซลในปี 2568 คาดว่าจะลดลง
        เนื่องจากความต้องการไบโอดีเซลเติบโตไม่มาก ขณะที่ราคาไบโอดีเซลมีทิศทางปรับตัวลง
อุปสงค์ไบโอดีเซลไทยคาดว่าจะโต 1.1% ในปี 2568 ชะลอตัวจาก 2.6% ในปี 2567 (รูปที่ 4)

โดยอุปสงค์ไบโอดีเซลไทยขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย ดังต่อไปนี้

1.    สัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ภาครัฐกำหนด คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2568

ในเดือนพฤศจิกายน 2567 ภาครัฐได้ปรับลดสัดส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดาจาก 6.6-7% (B7) มาเป็น 5-7% (B5) เพราะราคาน้ำมันปาล์มดิบไทยเพิ่มขึ้นกว่า 20% จากภัยแล้ง

อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 คาดว่า ภาครัฐจะปรับเพิ่มสัดส่วนผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา เนื่องจากราคาน้ำมันปาล์มดิบไทยมีแนวโน้มลดลง เพราะผลผลิตปาล์มที่จะขยายตัวจากปรากฏการณ์ลานีญา โดยในปีนี้ เนื้อที่ให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.52%1

2.    ความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.0% ในปี 2568

จากกิจกรรมเก็บเกี่ยวที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของผลผลิตเกษตร โดย GDP ภาคเกษตรคาดว่าจะเพิ่มขึ้นราว 1.8-2.8% ในปี 2568  ประกอบกับกิจกรรมการผลิตและการก่อสร้างที่กลับมาฟื้นตัวเล็กน้อย (รูปที่ 5)

อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกไทยอาจไม่สามารถปรับตัวต่ำลงตามราคาน้ำมันดิบดูไบที่มีแนวโน้มลดลงในปี 2568 (รูปที่ 6) เพราะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไทยที่ตรึงราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกยังคงมีฐานะขาดดุลสูง ทั้งนี้ ราคาขายปลีกดีเซลไทยที่ยังทรงตัวสูง ทำให้อุปสงค์น้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลไม่ได้รับแรงหนุนมากนักในปีนี้


ราคาไบโอดีเซลในปี 2568 คาดว่าจะลดลงจากปี 2567
        เนื่องจากราคาน้ำมันปาล์มดิบไทย ซึ่งสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของราคาไบโอดีเซล (รูปที่ 7) มีแนวโน้มปรับตัวลงตามราคาน้ำมันปาล์มดิบโลก  เพราะผลผลิตปาล์มจะเริ่มเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสแรกและตลอดทั้งปีตามปริมาณน้ำที่สูงขึ้น

ความเสี่ยงของตลาดไบโอดีเซลในระยะกลางถึงยาว

  • พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ซึ่งระบุให้ยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพภายในปี 2569 จะกระทบราคาและความต้องการไบโอดีเซล เพราะผู้ผลิตไบโอดีเซลจะต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นในช่วงที่ราคาปาล์มอยู่ในระดับสูง ทำให้ความสามารถในการดำเนินธุรกิจและสร้างผลกำไรลดลง
  • กฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมและแผนพลังงานไทยกดดันการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วต่อเนื่องในอนาคต อาทิ พ.ร.บ. Climate Change ที่ภาครัฐมีแผนจะบังคับใช้ภายในปี 2569 อาจจะทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องปรับตัวเพื่อลดการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว เช่น การเปลี่ยนไปใช้เครื่องจักรกลไฟฟ้ามากขึ้นในภาคก่อสร้างและการเกษตร เป็นต้น นอกจากนี้ ร่างแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567-2580 (Oil Plan 2024) ยังมุ่งเน้นเปลี่ยนรถโดยสารสาธารณะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest