Display mode (Doesn't show in master page preview)

11 กุมภาพันธ์ 2564

Econ Digest

บิตคอยน์ ตัวเลือกการกระจายพอร์ตลงทุน?

คะแนนเฉลี่ย
​การทะยานขึ้นของราคาบิตคอยน์ทุบสถิติสูงเป็นประวัติการณ์เหนือแนว 48,000 ดอลลาร์ฯ (ขณะที่ราคาบิตคอยน์ในรูปเงินบาทก็ขยับขึ้นทะลุแนว 1,450,000 บาท) ในช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือนกุมภาพันธ์ 2564 กระตุ้นอุณหภูมิของตลาดสกุลเงินดิจิทัล หรือคริปโทเคอร์เรนซี ให้อยู่ในภาวะที่ร้อนแรงและเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจของตลาดการลงทุนทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง โดยการปรับขึ้นของราคาบิตคอยน์ในช่วงนี้ได้รับแรงหนุนสำคัญ หลังจากที่บริษัท เทสลา อิงค์ (Tesla Inc.) เปิดเผยว่า จะกระจายเงินส่วนหนึ่งประมาณ 1,500 ล้านดอลลาร์ฯ ไปลงทุนในบิตคอยน์ และกำลังจะวางแนวทางในการรับบิตคอยน์จากลูกค้าที่ซื้อรถยนต์และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของบริษัท ขณะที่มีรายงานข่าวว่า บริษัทแอปเปิล อิงค์ (Apple Inc.) ก็มีความสนใจที่จะสร้างแพลตฟอร์มสำหรับให้บริการซื้อ-ขายคริปโทเคอร์เรนซีด้วยเช่นกัน

ย้อนกลับมามองสถานการณ์ในประเทศไทย คงต้องยอมรับว่า การลงทุนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งบิตคอยน์ ตลอดจนคริปโทเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัลอื่นๆ ได้รับความสนใจอย่างมากจากนักลงทุนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบและคุ้นชินกับความล้ำสมัยของเทคโนโลยี อย่างไรก็ดี ยังคงเป็นโจทย์ที่ยากในการประเมินมูลค่าตามปัจจัยพื้นฐานของบิตคอยน์และคริปโทเคอร์เรนซีอื่นๆ ซึ่งไม่เหมือนกับการประเมินราคาหุ้นที่อาจใช้วิธี Dividend Discount Model ซึ่งก็คือ การประเมินผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับในอนาคตจากการลงทุน (หรือเงินปันผล) และเทียบมูลค่าของเงินดังกล่าวกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน ส่วนการลงทุนในหุ้นกู้ก็จะได้รับผลตอบแทนตามอัตราดอกเบี้ยหรือคูปองที่ระบุไว้ตามสัญญาตลอดอายุของหุ้นกู้ตัวนั้น 

ขณะที่บางกระแสอาจมองว่า บิตคอยน์หรือคริปโทเคอร์เรนซีอื่นๆ มีโอกาสที่จะกลายเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยเหมือนๆ กับทองคำ เพราะมีลักษณะที่เหมือนกันตรงที่มีปริมาณ (Supply) ที่จำกัด แต่หากเทียบกันแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีข้อสังเกตว่า ข้อแตกต่างระหว่างทองคำกับบิตคอยน์หรือคริปโทเคอร์เรนซีอื่นๆ ก็คือ ทองคำมีลักษณะทางกายภาพที่สามารถจับต้องได้ และยังเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ธนาคารกลางสามารถใช้ทองคำเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศได้ตามกฎหมาย ขณะที่สินทรัพย์ดิจิทัลยังไม่สามารถทะลายกำแพงการกำกับดูแลของทางการหลายๆ ประเทศเพื่อให้ได้รับการยอมรับในวงกว้างขึ้น ขณะที่สัญญาณล่าสุดจากรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ สะท้อนว่าทางการสหรัฐฯ ยังคงติดตามกำกับดูแลเพื่อให้การใช้คริปโทเคอร์เรนซีเป็นไปในแนวทางที่เหมาะสม 

แม้ในประเด็นการยอมรับในวงกว้างขึ้น โดยเฉพาะจากทางการ คงต้องรอให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่การเริ่มมีการยอมรับมากขึ้นจากนิติบุคคลขนาดใหญ่นี้ คงเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับยุคสินทรัพย์ดิจิทัลที่น่าติดตาม ขณะที่ สิ่งที่นักลงทุนรายย่อยควรคำนึงถึง คือ ลักษณะเฉพาะของสินทรัพย์กลุ่มคริปโทเคอร์เรนซีที่มีความผันผวนสูง อาทิ ค่าความผันผวนของบิตคอยน์ในรอบ 1 ปีย้อนหลังอยู่ที่ประมาณ 68% ดังนั้น นอกจากจะต้องเข้าใจในเรื่องนี้แล้ว นักลงทุนจะต้องยอมรับความเสี่ยงดังกล่าวได้ และเงินลงทุนควรเป็นเงินเย็น มากกว่าการคาดหวังผลกำไรระยะสั้นๆ จากการดีดตัวขึ้นของราคาคริปโทเคอร์เรนซีแค่ชั่วระยะเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น 



Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest