ในเดือน พ.ย.67 เงินเฟ้อของจีนขยายตัวที่ 0.2%YoY ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 0.5%YoY และต่ำสุดในรอบ 5 เดือน เนื่องจากปัจจัยหนุนสำคัญอย่างราคาอาหาร เช่น ผักและเนื้อสัตว์ ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ขณะที่การขยายตัวของสินค้าที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย และการขนส่งยังคงหดตัว สะท้อนว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนในเดือน ก.ย.67 ยังไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ ด้านดัชนีราคาผู้ผลิตยังคงหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 26 อยู่ที่ -2.5%YoY โดยทั้งปี 2567 เงินเฟ้อจีนมีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อนหน้า
- ในปี 2568 เงินเฟ้อของจีนยังมีแนวโน้มอยู่ใกล้ระดับ 0% เนื่องจาก
- ภาพรวมอุปสงค์ในประเทศยังมีแนวโน้มอ่อนแอ แม้คาดว่าในปี 2568 จะมีมาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มเติมที่จะเข้ามาช่วยประคับประคองได้ในบางส่วน แต่คาดว่าไม่เพียงพอที่จะพลิกฟื้นสถานการณ์การบริโภคในประเทศได้โดยความเชื่อมั่นครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์จะยังคงกดดันการใช้จ่ายครัวเรือน
- ขณะที่ฝั่งอุปทานคาดว่าจะยังคงเจอปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินที่จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นจากปัญหาสงครามการค้ารอบใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้ระดับราคาสินค้ายังมีแนวโน้มปรับลดลง
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ความเสี่ยงเรื่องเงินฝืดจะยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจจีนในช่วงที่เหลือของปี 2567 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2568 ทั้งนี้ รอติดตามการประชุม Central Economic Work Conference (CEWC) ที่จะระบุถึงแผนงานด้านเศรษฐกิจของจีนในปี 2568 ซึ่งคาดว่าประเด็นความเสี่ยงเงินฝืดคงจะมีมาตรการทางเศรษฐกิจมารองรับเพิ่มเติม รวมถึงจะมีการกำหนดเป้าหมาย GDP สำหรับปี 2568
Scan QR Code
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น