Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 พฤศจิกายน 2564

Econ Digest

หากไทยขยับตามจีน ขอร่วมวง CPTPP ความแตกต่างระหว่าง CPTPP และ RCEP (กรณีไทยและจีนเข้าเป็นสมาชิกทั้งสองกรอบ)

คะแนนเฉลี่ย

การพิจารณาเข้าร่วมความตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ  CPTPP ของไทย ได้กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง หลังจีนแสดงท่าทีสนใจเข้าร่วม ตามมาด้วยไต้หวัน ขณะที่สหราชอาณาจักรสมัครเข้าเป็นสมาชิกแล้วเมื่อช่วงต้นปี ซึ่งท่าทีของนานาชาติโดยเฉพาะจีน ส่งผลให้ประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าที่ใกล้ชิดกับจีน ต้องกลับมาพิจารณา CPTPP อย่างจริงจังอีกครั้ง 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบการเข้าเป็นสมาชิกตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ RCEP และ CPTPP  ภายใต้สมมติฐานที่ว่าไทยและจีนร่วมเป็นสมาชิกในทั้ง 2 กรอบความตกลง  พบว่าในด้านการเข้าถึงตลาด  การเข้าเป็นสมาชิก CPTPP จะทำให้ไทยมี FTA กับตลาดใหม่เช่น เม็กซิโก แคนาดา อังกฤษและไต้หวัน สำหรับในด้านการผลิต  ทั้ง CPTPP และ RCEP ล้วนเป็น FTA แบบพหุภาคี แต่ RCEP เป็นการกระชับฐานการผลิตและตลาดในฝั่งเอเชียได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ในขณะที่ CPTPP มีความน่าสนใจมากกว่าด้วยการรวมแหล่งผลิตจากหลายพื้นที่ทั้งภูมิภาคอเมริกา ยุโรปและเอเชีย ซึ่งนับเป็นจุดขายสำคัญที่ยังไม่มีใน FTA ฉบับใดในโลก  ในส่วนของกฎระเบียบ  RCEP กำหนดกฎเกณฑ์การเปิดตลาดการค้าและการลงทุนเป็นหลักเท่านั้น แต่ CPTPP เป็นการรวมตัวในเชิงลึกมากกว่า FTA ทั่วไป โดยครอบคลุมการเปิดเสรีด้านอื่นๆ อาทิ มาตรฐานแรงงาน มาตรฐานสิ่งแวดล้อม การไหลของข้อมูลอย่างเสรีและการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า CPTPP เป็นความท้าทายในการยกระดับกฎระเบียบของแต่ประเทศสมาชิกที่ยากจะหลีกเลี่ยงผลกระทบที่ตามมาเพื่อให้ปฏิบัติได้ตามกรอบเวลาที่ได้ตกลงกันไว้

ทั้งนี้  หากทั้งไทยและจีนอยู่ในความตกลง CPTPP ภาคการผลิตและส่งออกของไทยที่พึ่งพาเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ น่าจะได้อานิสงส์ค่อนข้างชัดเจน  ทั้งในแง่การแข่งขัน รวมถึงการคว้าโอกาสการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ ต่างจาก RCEP ที่ไทยได้ประโยชน์จำกัดเฉพาะภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก อย่างไรตาม ภาครัฐต้องชั่งน้ำหนักประเด็นอ่อนไหวของ CPTPP โดยเฉพาะข้อปฏิบัติทางทรัพย์สินทางปัญญาที่อิงกับหลักเกณฑ์สากลไม่ว่าจะเป็นความเข้มงวดในการปรับใช้สิทธิบัตรยา และการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ที่จะส่งผลต่อประชาชนและเกษตรกรในวงกว้าง  ซึ่งโจทย์สำคัญของทางการไทยคงอยู่ที่การสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนและถูกต้อง รวมถึงแผนการบรรเทาผลกระทบซึ่งจะช่วยผ่อนคลายแรงตึงเครียดลงได้​

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest