Display mode (Doesn't show in master page preview)

11 เมษายน 2565

Econ Digest

จีน-สหรัฐฯ-EU ดันมาตรการสิ่งแวดล้อม สินค้าส่งออกไทย...เตรียมพร้อมหรือยัง?

คะแนนเฉลี่ย

​การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เรื่องไกลตัว โดยหลายๆ ประเทศก็ได้เริ่มนำมาตรการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมาใช้ในมิติด้านการค้า  สินค้าส่งออกไทยจึงต้องเร่งปรับตัวเพื่อไม่ให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันในอนาคต


  จีน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปเป็นทั้งคู่ค้าหลักของไทยและเป็นกลุ่มประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดของโลก  นั่นคือปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์รวมกันในปี 2563 คิดเป็นครึ่งหนึ่งของทั้งโลก  (51.7%)  ซึ่งจากการการประชุม COP26 ที่ผ่านมาได้มีการประกาศเจตนารมณ์เพื่อบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ตามมาด้วยการดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว  โดยจีนมีการห้ามนำเข้าขยะพลาสติกและจำกัดการใช้พลาสติก รวมทั้งตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ (Carbon Neutrality)  ในปี 2603 ส่วนสหรัฐฯ ก็เตรียมเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนและดำเนินมาตรการด้านพลังงานสะอาด เพื่อบรรลุ Net Zero หรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 ในขณะที่สหภาพยุโรปมีการดำเนินมาตรการห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง รวมถึงดำเนินมาตรการอื่นๆ ตาม European Green Deal เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในปี 2593


การใช้มาตรการของจีน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปดังกล่าว  ย่อมส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  โดยในปี 2564 ไทยมีการส่งออกไปยัง 3 ตลาดดังกล่าวเป็นจำนวน  3.28 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 38.4% ของการส่งออกทั้งหมด โดยในจำนวนนี้ประกอบด้วยกลุ่มสินค้าสำคัญที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง อย่างเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก ยานยนต์และส่วนประกอบ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม รวมเป็นมูลค่าราว 4.9 แสนล้าน หรือคิดเป็น 14.9%  คาดว่าในระยะสั้น สินค้าประเภทพลาสติกมีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากมีสัดส่วนการส่งออกค่อนข้างสูง  นอกจากนี้แนวโน้มมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกยังจะมีความเข้มงวดมากขึ้น ในขณะที่พลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ซึ่งเป็นสินค้าทดแทนยังไม่สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตให้เพียงพอต่อการส่งออก ผู้ประกอบการไทยจึงควรเตรียมรับมือกับการดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคตทั้งจากประเทศคู่ค้าและจากทางการไทยเอง เนื่องจากธุรกิจที่ปรับตัวได้ก่อนย่อมมีความได้เปรียบในการแข่งขันมากกว่า

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest