Display mode (Doesn't show in master page preview)

10 พฤศจิกายน 2565

Econ Digest

ภาษีคาร์บอน ผู้ประกอบการไทย "พร้อม" หรือยัง?

คะแนนเฉลี่ย

​    สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการออกมาตรการต่างๆ  เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก   ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือมาตรการทางภาษี อาทิ ภาษีคาร์บอน  ซึ่งเป็นเครื่องมือในการเพิ่มต้นทุนให้กับสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้ผู้ผลิตลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต หรือหันมาผลิตสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า  โดยฐานภาษีคาร์บอนที่ใช้ในการจัดเก็บมีทั้งการจัดเก็บภาษีทางตรงจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขั้นตอนการผลิตสินค้า และการจัดเก็บภาษีทางอ้อมตามการบริโภค ซึ่งในต่างประเทศ มีการจัดเก็บภาษีคาร์บอนอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะประเทศในทวีปยุโรปที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ขณะที่บางประเทศในทวีปอเมริกาใต้ เอเชีย และแอฟริกาก็เริ่มมีการนำภาษีคาร์บอนมาบังคับใช้เช่นกัน โดยปัจจุบันมีการจัดเก็บภาษีคาร์บอนแล้วใน 29 ประเทศ อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีคาร์บอนในแต่ละประเทศจะแตกต่างกันไป โดยอยู่ระหว่าง 0.08 – 137 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์


     สำหรับประเทศไทย กรมสรรพสามิตเริ่มนำอัตราภาษีที่คำนึงถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้ครั้งแรกในการปรับปรุงโครงสร้างภาษีรถยนต์ในปี 2559   และในปี 2565 นี้  กรมสรรพสามิตกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางในการนำภาษีคาร์บอนมาใช้ในประเทศไทย    โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าการจัดเก็บภาษีคาร์บอนในไทยสามารถทำได้ทั้งการจัดเก็บโดยตรงจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมตามมาตรการ CBAM หรือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป   และการจัดเก็บทางอ้อมจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยควรเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ผู้ประกอบการมีการปรับตัวและเตรียมความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นการตรวจวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) เป็นประจำ  การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต รวมไปถึงการหันมาผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

 


Click
 ชมคลิป ภาษีคาร์บอน ผู้ประกอบการไทย "พร้อม" หรือยัง?


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น