Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 กันยายน 2565

Econ Digest

Convenience store แข่งขันเดือด...การรักษายอดขายให้สม่ำเสมอเป็นโจทย์ท้าทายสำคัญ

คะแนนเฉลี่ย

​ร้านสะดวกซื้อ หรือ Convenience store เป็นอีกหนึ่ง Segment ค้าปลีกที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ภาพรวมยอดขายค้าปลีก Convenience store ในปี 2565 จะกลับมาฟื้นตัวราว 13-15% (YoY) จากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า โดยปัจจัยหนุนสำคัญคือการทยอยกลับมาของผู้บริโภคที่หันมาซื้อสินค้าผ่านหน้าร้านมากขึ้นหลังโควิดคลี่คลาย ทั้งกลุ่มพนักงานออฟฟิศและนักท่องเที่ยวต่างชาติ การปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในบางรายการ ซึ่งแม้ว่าจะกระทบต่อปริมาณการใช้จ่ายของผู้บริโภค แต่ก็ช่วยดันมูลค่าตลาดให้ยังคงเพิ่มขึ้นในภาพรวม นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนรูปแบบสาขาจากโชห่วยมาเป็นพันธมิตรหรือเครือข่ายของค้าปลีกรายใหญ่ ตลอดจนการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นของกลุ่มค้าปลีกท้องถิ่น อย่างไรก็ดี ท่ามกลางกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึงและการแข่งขันที่รุนแรง คาดว่ายอดขายค้าปลีก Convenience store ปี 2566 อาจจะเติบโตชะลอลง แต่ก็ยังเป็นการเติบโตที่สูงกว่าภาพรวมของธุรกิจค้าปลีก


ทั้งนี้ Convenience store ในไทย ถือว่าค่อนข้างอิ่มตัวหากเทียบกับฐานการบริโภค และถ้าเทียบกับประเทศที่มีโมเดลใกล้เคียงกันอย่างญี่ปุ่น โดยเมื่อมองไปข้างหน้า ด้วยข้อจำกัดด้านการเติบโตของฐานการบริโภคประเทศ อันเป็นผลจากรายได้ครัวเรือนที่เพิ่มน้อย การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์และแนวโน้มการลดลงของประชากรไทย ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อการเติบโตของค้าปลีก ท่ามกลางแผนการขยายสาขาที่ยังคงเพิ่มขึ้นซึ่งจะทำให้ Convenience store ในไทยหนาแน่นขึ้นอีก ส่งผลให้ธุรกิจยังคงต้องเผชิญกับความยากลำบากในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง


ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การรักษายอดขายต่อสาขาเดิม (Same-Store Sales Growth: SSSG) ให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการค้าปลีก โดยร้านค้าปลีกที่ได้ทราฟฟิกจากลูกค้าประจำอย่างสม่ำเสมอ จะมีโอกาสไปต่อในยุคที่ผู้บริโภคมีทางเลือกหลากหลายและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างรวดเร็ว ซึ่งนอกจากผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้สอดรับกับพฤติกรรมและเทรนด์ใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลาแล้ว ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมหรือมีศักยภาพก็ยังมองหาโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ โดยการขยายการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียน เช่น เวียดนาม ซึ่งยังมีโอกาสในการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกรวมถึงค้าปลีกกลุ่ม Convenience store ด้วย

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest