Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 มีนาคม 2563

Econ Digest

ค้าปลีกไม่พ้น...พิษโควิด-19 คาด...เม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทย หายไป 1.5-2 แสนล้านบาท

คะแนนเฉลี่ย

​​การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติยกเลิกหรือชะลอแผนเดินทางมาไทย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่อง ทำให้ไม่สามารถดำเนินธุรกิจและสร้างรายได้ แรงงานบางส่วนต้องตกงานหรือถูกพักงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ทำให้กำลังซื้อของคนในประเทศหายไปและกระทบต่อการจับจ่ายในภาคธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย ขณะที่สินค้ากลุ่มอาหารพื้นฐานที่รับประทานในแต่ละวัน อาหารสด รวมถึงของใช้ส่วนบุคคล ยังคงมีการใช้จ่าย เพราะเป็นสินค้าจำเป็น และอาจจะมีการสำรองสินค้ากลุ่มนี้ไว้บ้าง เพราะมีความวิตกกังวลต่อการระบาดของโรค ทำให้เกิดการปรับพฤติกรรมการบริโภค เช่น เลือกอาหารที่มีราคาถูกลงกว่าช่วงปกติ หรือซื้อเฉพาะสินค้าที่ราคาถูกลงและมีความจำเป็นต้องใช้เท่านั้น เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธุรกิจค้าปลีกที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าสะดวกซื้อ รวมถึงร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึกที่อยู่ในย่านแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น กรุงเทพฯ (สยาม ราชประสงค์ รัชดาฯ) ภูเก็ต ชลบุรี (พัทยา) เชียงใหม่ เป็นต้น  นอกจากนี้ ธุรกิจค้าปลีกที่จับกลุ่มลูกค้าคนไทยระดับกลางถึงล่างอย่างไฮเปอร์มาร์เก็ต อาจได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากกำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายโดยเฉพาะกลุ่มฐานราก เช่น เกษตรกร แรงงานรายวัน มีแนวโน้มอ่อนแรงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ ค้าปลีกที่จับกลุ่มลูกค้าระดับกลางขึ้นบนอย่างซูเปอร์มาร์เก็ต หรือ E-Commerce ก็น่าจะได้รับผลกระทบเช่นกัน จากความระมัดระวังในการใช้จ่ายของผู้บริโภค

หากการแพร่ระบาดสามารถคุมได้ในครึ่งปีแรก และมีมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อจากทางภาครัฐ ตลอดจนมีกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการ ควบคู่ไปกับการมีมาตรการดูแลและป้องกันทางด้านสุขภาพให้แก่ลูกค้าที่มาใช้บริการภายในร้านค้าปลีก ก็น่าจะช่วยประคับประคอง และทำให้บรรยากาศการใช้จ่ายในช่วงครึ่งหลังของปีค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวได้ ทั้งนี้ คาดว่าภาพรวมธุรกิจค้าปลีกทั้งปี 2563 จะหดตัวราว 0.8% หรือเป็นเม็ดเงินประมาณ 150,000 ล้านบาท แต่หากสถานการณ์ลากยาวออกไปหรือรุนแรงขึ้น อาจทำให้มูลค่าตลาดค้าปลีกหดตัวถึง 2.2% หรือคิดเป็นเงินค้าปลีกจากนักท่องเที่ยวและคนไทยที่หายไปราว 200,000 ล้านบาท

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest