Display mode (Doesn't show in master page preview)

13 พฤษภาคม 2564

Econ Digest

ธุรกิจบัตรเครดิตปี 64 โควิดกระทบผู้บริโภค...ผู้ให้บริการเผชิญโจทย์ซับซ้อน

คะแนนเฉลี่ย

 ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดต่อเนื่องหลายระลอกของโควิด 19  โดยปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรชะลอตัวในทุกกลุ่มลูกค้า ซึ่งเป็นผลจากมาตรการจำกัดการเดินทาง การรักษาระยะห่างทางสังคมและรายได้ที่ลดลงของลูกค้าบางกลุ่ม   จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิต พบว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564  กลุ่มตัวอย่างในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเกือบ 80% เลือกที่จะผ่อนชำระคืนบางส่วน  และราว 48% ของกลุ่มลูกหนี้บัตรเครดิตที่เข้ามาตรการช่วยเหลือจากสถาบันการเงินเลือกขอผ่อนผันภาระผ่อนชำระต่อเดือนลง สะท้อนว่าการระบาดของโควิด 19 ส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของลูกหนี้   ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปยังผู้ให้บริการบัตรเครดิตที่ต้องเผชิญโจทย์ธุรกิจที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น ทั้งการปรับกลยุทธ์เพื่อให้เป็นบัตรหลักที่ลูกค้าเลือกใช้ การกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตร และการบริหารความเสี่ยงของหนี้เสียที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ 

สำหรับภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวและบริการที่ยังไม่กลับเป็นปกติ   อาจส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตทั้งระบบ รวมผู้ให้บริการที่เป็นแบงก์และนอนแบงก์ ทรงตัวหรืออาจหดตัวต่อเนื่องในกรอบ -1.0% ถึง +0.5% เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่หดตัว 1.6% ทั้งนี้ คาดว่าผู้ให้บริการบัตรเครดิตจะเน้นกลยุทธ์การทำตลาดที่ค่อนข้างระมัดระวัง เพื่อดูแลประเด็นด้านต้นทุนและค่าใช้จ่าย ควบคู่กับการเสนอแคมเปญเปลี่ยนวงเงินบัตรเป็นสินเชื่อเงินก้อนเพื่อกระตุ้นการใช้วงเงินบัตรอย่างมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ข้อจำกัดด้านรายได้ที่ลดลงของผู้ถือบัตรบางกลุ่ม   รวมถึงร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจในช่องทางออนไลน์ออกแคมเปญทางการตลาด  เพื่อตอบโจทย์ความนิยมในการชำระเงินผ่านบัตรในยุคชีวิตวิถีใหม่ที่เน้นความปลอดภัย 

  อย่างไรก็ตาม การดูแลคุณภาพพอร์ตลูกหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้ในเชิงรุก มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงิน ตลอดจนการขยายเวลาโครงการมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ของธปท. ไปจนถึง 30 มิ.ย. 2564 อาจมีส่วนช่วยปรับปรุงสถานะทางการเงินของลูกหนี้และบรรเทาแรงกดดันต่อปัญหาคุณภาพหนี้บัตรเครดิตได้บางส่วน แม้ทิศทางตัวเลข NPL ของบัตรเครดิตอาจยังไม่เพิ่มขึ้นชัดเจน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ NPL บัตรเครดิตในระบบไว้ที่ 1.90-2.50% ใกล้เคียงกับระดับ  1.91% ณ สิ้นปี 2563 

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest