Display mode (Doesn't show in master page preview)

19 สิงหาคม 2563

Econ Digest

หุ้นกู้...เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ การจัดการธุรกิจยั่งยืน

คะแนนเฉลี่ย
​​               จากกระแสของผู้บริโภครุ่นใหม่ที่หันมาบริโภคสินค้าทางเลือก ซึ่งกระบวนการผลิตลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระยะยาว เช่น เนื้อสัตว์จากพืช/ห้องทดลอง วัสดุทดแทนพลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เป็นต้น ธุรกิจรูปแบบใหม่นี้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมาก สามารถระดมทุนได้หลักร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจในอนาคตแล้ว ยังเป็นเพราะธุรกิจรูปแบบนี้ถูกจัดให้เป็นธุรกิจเพื่อความยั่งยืน และมีแนวโน้มการเติบโตสูงในระยะยาว
 
               เมื่อพิจารณาบริบทด้านความยั่งยืนของธุรกิจในประเทศไทย ภาครัฐมีบทบาทในการกำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจ และให้ความรู้ผู้ประกอบการมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การจัดการธุรกิจที่ยั่งยืนที่เห็นได้ชัดเจน ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจจดทะเบียน ซึ่งคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) มีการกำหนดมาตรฐานการประเมินด้านความยั่งยืนและส่งเสริมให้มีการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของธุรกิจ (ESG) ในรายงานประจำปี นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมการลงทุนด้านความยั่งยืน ก.ล.ต. ได้มีมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 และขยายระยะเวลาการยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวจนถึงเดือนพฤษภาคม 2564 สำหรับการเสนอขายตราสารหนี้ 3 ประเภท ได้แก่ ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม และตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืนผ่านการระดมทุน​
 
                ในช่วงที่ผ่านมา ภาคธุรกิจในประเทศไทยเริ่มมีการออกหุ้นกู้เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ให้สอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจยั่งยืนและตอบโจทย์นักลงทุนที่หันมาให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเช่นกัน เมื่อพิจารณาอัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้ และอัตราผลตอบแทนหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อม ที่มีอายุพันธบัตรระยะเวลา 3 ปี เท่ากัน และออกขายในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน พบว่า ในปี 2562 ส่วนต่างของตัวอย่างหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อม และหุ้นกู้ทั่วไป อายุ 3 ปี เรทติ้ง A เมื่อเทียบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล อยู่ที่ 0.74% และ 0.76% ตามลำดับ ในขณะที่ปี 2563 ส่วนต่างหุ้นกู้ อายุ 3 ปี เรทติ้ง AAA (THA) จะอยู่ที่ 1.67% และ 1.78% ตามลำดับ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ธุรกิจเสนอให้แก่นักลงทุน กับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล อายุ 3 ปี ต่ำกว่า ส่วนต่างผลตอบแทนของหุ้นกู้ทั่วไปที่มีเรทติ้งในระดับเดียวกัน ส่งผลให้ธุรกิจที่เสนอขายหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อม มีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำลงกว่ากรณีเสนอขายหุ้นกู้ทั่วไป อย่างไรก็ตาม  ในทางปฏิบัติอัตราผลตอบแทนที่ธุรกิจจะเสนอขายให้แก่นักลงทุน อาจถูกกำหนดจากอีกหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผลประกอบการของบริษัท แผนการลงทุนในอนาคต ความเชื่อมั่นของนักลงทุน รวมถึงภาพรวมตลาดในแต่ละช่วงเวลาด้วย
 
                   นอกจากนี้ ธุรกิจยังมีการปรับใช้แนวทางการจัดการที่ยั่งยืนตามหลัก ESG ที่มีความชัดเจนยิ่งขึ้นและสามารถสร้างผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรได้ โดยส่วนหนึ่งสะท้อนได้จากดัชนี SETTHSI หรือ SET Thailand Sustainability Investment ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG และผ่านเกณฑ์สภาพคล่องที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด ที่จำนวนหลักทรัพย์และมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ตามเกณฑ์ที่กำหนดเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา โดยธุรกิจในกลุ่มพลังงาน ธนาคารและการเงิน และโทรคมนาคม มีสัดส่วนมากกว่า 50% ของ SETTHSI จากการเติบโตของ SETTHSI สะท้อนได้ว่า ปัจจัยด้านการจัดการที่ยั่งยืนได้เข้ามามีผลต่อการระดมทุนของภาคธุรกิจในแง่ของ sentiment การลงทุนในหุ้นที่ยั่งยืน รวมถึงเป็นการส่งสัญญาณถึงผู้บริโภคถึงจุดยืนขององค์กรด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งจะส่งผลต่อเนื่องไปสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ ผลิตภัณฑ์และบริการให้สอดคล้องตามวัตถุประสงค์ของเงินทุน
 
                 ​ตามที่ได้มีการเผยแพร่ดัชนี Environmental Performance Index (EPI) ประจำปี 2563 ประเทศไทยได้ลำดับที่ 78 ของโลกนั้น เราจึงต้องพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในหลายด้าน ที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย เช่น ด้านคุณภาพอากาศ การจัดการของเสีย ทั้งนี้ จากการพิจารณาปัจจัยสนับสนุนการปรับตัวของธุรกิจ ประกอบกับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ซึ่งสัดส่วนภาคการผลิตที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมของไทย ในมิติปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และปัญหาฝุ่นละออง ยังกระจุกตัวอยู่ในภาคเกษตรกรรม พลังงานและขนส่ง เป็นหลัก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธุรกิจในกลุ่มสินค้า เกษตรและอาหาร พลังงานและการขนส่ง สารเคมีและพลาสติก จะเป็นภาคธุรกิจสำคัญที่คาดว่าจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อความยั่งยืน ซึ่งหากทำได้ ก็จะก่อให้เกิดทั้งความได้เปรียบต่อธุรกิจเองในระยะยาว รวมถึงส่งผลในทางบวกต่อความยั่งยืนโดยรวมของประเทศ และน่าจะส่งผลให้ระดับการประเมิน EPI ของไทยดีขึ้นได้ในอนาคต



Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest