Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 มิถุนายน 2564

Econ Digest

DIGITAL BANK นวัตกรรมบริการทางการเงินกับบริบทสังคมไทย

คะแนนเฉลี่ย

​​

  ปัจจุบันกระแส Digital-Only Bank หรือ Digital Bank รูปแบบธนาคารพาณิชย์ที่สามารถทำธุรกิจการเงินแบบไร้สาขากำลังมาแรง ซึ่งในภูมิภาคเอเชียมีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการ Digital Bank แล้วในจีน สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน และฮ่องกง โดยมีเป้าหมายคือ ส่งเสริมการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการทางการเงิน ส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงิน ลดต้นทุนดำเนินงานจากสาขา และเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน   ทั้งนี้ ความน่าสนใจอยู่ที่ผู้สมัคร Digital Bank ในประเทศต่างๆ ดังกล่าว  ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจแพลตฟอร์มออนไลน์ แพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์ค อีคอมเมิร์ส และกิจการโทรคมนาคม ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและข้อมูล รวมถึงมีบทบาทในชีวิตประจำวันลูกค้า หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ มีระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อต่อการต่อยอดธุรกิจ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและฐานข้อมูลลูกค้า

สำหรับประเทศไทย การเกิดขึ้นของ Digital Bank ยังต้องคำนึงถึงโครงสร้างของสังคมไทยที่อาจมีผลต่อการบริการ อาทิ 1) ความเป็นสังคมเกษตร ครัวเรือนเกษตรกรมีสัดส่วนมากกว่า 36%  2) จำนวนแรงงานนอกระบบมากถึง 53.7%   และ 3) การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จากจำนวนผู้สูงอายุซึ่งคิดเป็น 15.5% ของจำนวนประชากรในปัจจุบัน  ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนที่จำเป็นต่อการเข้าถึงบริการ Digital Bank  ภายใต้โจทย์เฉพาะหน้าของไทยในการเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินของภาคประชาชนและการลดต้นทุนของการใช้บริการผ่านตัวกลางทางการเงินในระบบ  ซึ่งนับเป็นความท้าทายในการออกแบบเงื่อนไขและหลักเกณฑ์สำหรับการประกอบธุรกิจ Digital Bank ในไทย รวมถึงการกำกับดูแลผู้เล่นในตลาด   

อย่างไรก็ตาม  แม้ Digital Bank อาจไม่สามารถตอบโจทย์ของภาคการเงินไทยได้อย่างสมบูรณ์ แต่การดึงกลุ่ม Non-bank FinTech และ TechFin ซึ่งอาจจะเป็นผู้เล่นรายใหม่ในตลาด Digital Bank ให้เข้ามาอยู่ในการกำกับดูแลของทางการ น่าจะส่งผลดีต่อการควบคุมดูแลภาคการเงินและการคุ้มครองผู้ใช้บริการ รวมถึงการสร้าง Ecosystem ด้านข้อมูลในระบบการเงินไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสะท้อนปัญหาในการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชากรไทยและนำมาสู่การออกแบบหรือปรับปรุงนโยบายเพื่อตอบโจทย์ในที่สุด


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest