Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 สิงหาคม 2563

Econ Digest

เมื่อสหภาพยุโรป ยกเลิกสิทธิพิเศษทางการค้า EBA อุตสาหกรรมและการส่งออกของ กัมพูชา จะเปลี่ยนไป...

คะแนนเฉลี่ย

สิทธิเศษทางการค้า EBA ของสหภาพยุโรปได้มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการค้าของกัมพูชาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหลังจากปีค.ศ. 2011 ที่ทางสหภาพยุโรปได้ผ่อนคลายกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้การส่งออกสินค้าจากกัมพูชามายังสหภาพยุโรปเติบโตอย่างก้าวกระโดดเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 18% ต่อปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาและมีการจ้างงานกว่า 8 แสนตำแหน่งหรือประมาณร้อยละ 10 ของกำลังแรงงานทั้งหมดในปัจจุบัน ซึ่งพัฒนาการดังกล่าวในอีกด้านหนึ่งส่งผลให้โครงสร้างเศรษฐกิจและการส่งออกของกัมพูชามีความเปราะบางจากการกระจุกตัวของสินค้าส่งออก ตลอดจนการพึ่งพาตลาดส่งออกไปยังยุโรปในสัดส่วนที่สูง เนื่องจากผลกระทบเชิงลบที่เกิดต่ออุตสาหกรรมหลักของประเทศจะส่งผ่านไปยังภาคเศรษฐกิจจริงหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดลงของการส่งออก การลดลงของการจ้างงาน ตลอดจน แรงกดดันต่อการเติบโตของค่าจ้างแรงงาน


การสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้า (EBA) บางส่วนต่อกัมพูชาจากปัญหาสิทธิมนุษยชนของประเทศ อาจเป็นสัญญาณเตือนให้กัมพูชาต้องมีการปรับตัว โดยแม้การปรับลดสิทธิ EBA ในครั้งนี้ยังคงอยู่ระดับที่จำกัด โดยครอบคลุมสินค้าจำนวน 40 รายการ ในหมวดสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า คิดเป็นมูลค่าสินค้าที่กัมพูชาส่งออกไปยุโรปร้อยละ 20 (คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1 พันล้านยูโร) หรือประมาณร้อยละ 8 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา แต่การที่สินค้าส่งออกรวมของกัมพูชาพึ่งพาการใช้สิทธิพิเศษทางการค้า (EBA) ในสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 96 อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น หากยุโรปมีการทบทวนการให้สิทธิพิเศษทางการค้า (EBA) แก่กัมพูชาในระยะข้างหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แรงกดดันทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นสร้างแรงกดดันให้กัมพูชาแสวงหาข้อตกลงทางการค้าเพื่อเพิ่มโอกาสใน ขยายโอกาสในตลาดการส่งออก ตลอดจนดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ โดยหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของกัมพูชาในช่วงนี้คงหนี้ไม่พ้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับจีน ทั้งนี้ แรงหนุนของข้อตกลงการค้าระหว่างกัมพูชากับจีน ตลอดจนการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเพื่อหลีกหนีภาษีจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ เพื่อใช้ประโยชน์จาก GSP ที่สหรัฐฯ ให้กัมพูชาคงมีส่วนช่วยประคับประคองเศรษฐกิจกัมพูชาในภาพรวม แต่การพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากจีนในการชดเชยการขาดดุลการค้าและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงอาจเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจกัมพูชา โดยเฉพาะหากจีนมีการทบทวนหรือชะลอการลงทุนในกัมพูชาในอนาคตจากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้า ขณะที่การทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกัมพูชาและจีนอาจไม่ได้ส่งเสริมศักยภาพของอุตสาหกรรมมากนัก เนื่องจากจีนมองโอกาสการเข้าถึงตลาดกัมพูชามากกว่าการเชื่อมต่อห่วงโซ่การผลิตกับกัมพูชา โดยนอกเหนือจากจีน เกาหลีใต้อาจเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจเนื่องจากเกาหลีใต้มีศักยภาพในการขยายตลาดส่งออกสิ่งทอที่น่าสนใจ รวมทั้ง กัมพูชาอาจสามารถดึงดูดการลงทุนตรงจากเกาหลีใต้เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ในการลดการพึ่งพิงอุตสาหกรรมสิ่งทอในอนาคต

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest