Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 ธันวาคม 2565

Econ Digest

ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า จะเป็นอย่างไร? หากประกาศใช้ร่างกฎหมายสินค้าชำรุด

คะแนนเฉลี่ย

​   เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. .... โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบความชำรุดบกพร่องของสินค้าเป็นระยะเวลา 2 ปี นับจากวันส่งมอบ เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคโดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีที่ยากแก่การพบความชำรุดในตอนซื้อสินค้า โดยรวมถึงสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งมีความหลากหลายและมีการใช้งานเป็นวงกว้างในหมู่ผู้บริโภค ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวหากผ่านการพิจารณาในขั้นตอนรัฐสภาและประกาศใช้ น่าจะส่งผลผลักดันให้ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้ามุ่งไปสู่สินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐานยิ่งขึ้น ในขณะที่น่าจะกระทบต้นทุนดำเนินงานของผู้ประกอบการไม่มากนัก โดยเฉพาะหากผู้ประกอบการมีการผลิตหรือจำหน่ายสินค้าที่ได้คุณภาพมาตรฐานอยู่ก่อนแล้ว

   ปัจจุบัน เครื่องใช้ไฟฟ้าในตลาดไทยมักมีระยะประกันอย่างน้อย 1 ปี ขณะที่ผู้บริโภคมักไม่ค่อยอยากยุ่งยากและเสียเวลาดำเนินการเคลมหากสินค้าชำรุดเล็กน้อยแต่ยังคงใช้งานได้ ทำให้โดยภาพรวมต้นทุนการเคลมสินค้าชำรุดของอุตสาหกรรมในปัจจุบันจึงไม่ค่อยสูงนักและอยู่ที่เพียงราวร้อยละ 0.23 ของยอดขาย1  ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นการสต็อกอะไหล่เผื่อการซ่อมแซมสินค้าในกรณีใช้งานไม่ได้



ในอนาคตหลังประกาศใช้ร่างพ.ร.บ.ฯ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้ารุ่นทั่วไปที่จับตลาดแมสและมักมีระยะประกันเพียง 1 ปี น่าจะจำเป็นต้องขยายระยะประกันให้ครอบคลุมอย่างน้อย 2 ปีตามเงื่อนไขของกฎหมายใหม่ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบบ้างในแง่การดำเนินการ โดยเฉพาะสินค้าที่แต่เดิมไม่มีประกันซึ่งน่าจะมีจำนวนน้อยมาก ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโมเดลและฟังก์ชันของผลิตภัณฑ์ที่ขายอยู่มากนัก จึงไม่น่าจะส่งผลต่อราคาขาย

อย่างไรก็ดี ผู้นำเข้าเพื่อจำหน่าย ซึ่งมักมีมาร์จินจากการขายสินค้าไม่สูงนัก และมีอำนาจต่อรองที่น้อยกว่าเจ้าของแบรนด์ในต่างประเทศ อาจจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อลดผลกระทบ โดยหันไปเน้นขายผลิตภัณฑ์ที่มีการรับประกันจากเจ้าของแบรนด์ หรือมีคุณภาพมาตรฐานสูงขึ้น และค่อยทยอยลดการจำหน่ายกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีการรับประกันจากเจ้าของแบรนด์ลง ทั้งนี้ การเลือกแนวทางปรับตัวน่าจะยังขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการแต่ละราย ซึ่งมีสัดส่วนต้นทุน/กำไร ภาพลักษณ์ของแบรนด์ และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่แตกต่างกัน

โดยภาพรวม ผลกระทบจากร่างพ.ร.บ.ฯ ต่อตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าและราคาน่าจะอยู่ในวงจำกัด แต่ด้วยบริบทการแข่งขันที่เข้มข้นของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยที่มีผู้เล่นมากราย ในขณะที่ความภักดีต่อแบรนด์โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ที่มีแนวโน้มลดลง ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเน้นในคุณภาพ ความคุ้มค่า และการบริการหลังการขายที่ดี โดยเฉพาะในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจไทยเพิ่งเริ่มฟื้นตัวภายใต้ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ตลอดจนแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งจะยังส่งผลต่อกำลังซื้อผู้บริโภคและอุปสงค์เครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศในช่วงข้างหน้า หลังจากที่ยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้หดตัวกว่าร้อยละ 2.5 (YoY)  


-----------------------------------------------------------------------------

 1 ประเมินจากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Output Table) ปี 2558





 


Click
 ชมคลิป ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า จะเป็นอย่างไร? หากประกาศใช้ร่างกฎหมายสินค้าชำรุด%


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น