Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 มกราคม 2565

Econ Digest

"ชูจุดขาย สร้างจุดเด่น รับกระแสรักษ์โลก" โอกาส...ผู้ประกอบการท่องเที่ยวปรับตัว

คะแนนเฉลี่ย

​พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของโลกที่มีความตระหนัก และใส่ใจถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังนั้น ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะต้องปรับตัวให้ตอบโจทย์ และเข้ากับกระแสรักษ์โลกของนักท่องเที่ยวมากขึ้น ประกอบกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้นักท่องเที่ยวเปลี่ยนมุมมองไปมุ่งเน้นการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากขึ้นเช่นเดียวกัน
จากรายงานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในปี 20211  พบว่ากว่า 78% ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยจำนวน 968 คน มีความต้องการเดินทางท่องเที่ยวในรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมากขึ้นในอนาคตโดยกลุ่มคนเหล่านี้มีความกังวลว่าการท่องเที่ยวในรูปแบบเดิมจะก่อให้เกิดปัญหาด้านการสร้างขยะจากการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (46%) การบุกรุกแหล่งอาศัยของสัตว์และทำลายป่า (38%) การสร้างความแออัด (30%) และการสร้างก๊าซเรือนกระจก (29%) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังเป็นสิ่งที่ในขณะนี้ทั่วโลกให้ความร่วมมือและให้ความสำคัญที่จะลดปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง




นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวมีความเชื่อว่าการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับการท่องเที่ยวได้ อาทิ การใช้ระบบ key card หรือเซ็นเซอร์เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้า การให้ข้อมูลและแนวทางแก่นักท่องเที่ยวอย่างเพียงพอเพื่อรักษาระบบนิเวศของท้องถิ่น
การเสนอตัวเลือกในการลดการทำความสะอาดห้องพักเพื่อลดการใช้ทรัพยากรน้ำ และใช้อุปกรณ์สำหรับการรับประทานอาหารที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ทั้งนี้ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ธุรกิจได้ดำเนินการเพื่อลดต้นทุนซึ่งเป็นผลดีต่อผลประกอบการของธุรกิจอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ธุรกิจโรงแรมสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ต้องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างรายได้แก่ธุรกิจเพิ่มขึ้นได้ผ่านการดำเนินการที่ได้รับการยอมรับ เช่น การลงนามในปฏิญญายูเนสโกเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (UNESCO Sustainable Travel Pledge) เพื่อรับตราสัญลักษณ์โรงแรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นการประกาศให้โลกรู้ถึงความตั้งใจในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยต้องรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานกับยูเนสโกทุกปี ทั้งนี้ ปัจจุบันมีโรงแรมทั่วโลกลงนามในปฏิญญาดังกล่าวแล้วประมาณ 4,200 แห่ง โดยในจำนวนนี้มีประมาณ 600 โรงแรม เป็นโรงแรมในประเทศไทย 2
ภาครัฐก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อาทิ องค์การบริหาร
การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ที่ได้ผลักดันพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในหลายพื้นที่ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดที่มีสัดส่วนผู้เยี่ยมเยือน 14% สร้างรายได้ 16% จากรายได้จากการเยี่ยมเยือนทั้งหมด3  ได้แก่ หมู่เกาะช้าง เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เมืองพัทยา อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร จังหวัดเลย เมืองเก่าน่าน เมืองโบราณอู่ทอง รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีกหลายแห่ง ตามเกณฑ์ของสภาการท่องเที่ยวโลกอย่างยั่งยืน (Global Sustainable Tourism Council: GSTC) ซึ่งมีความครอบคลุมในหลายมิติ รวมถึงมิติความยั่งยืน
ด้านสิ่งแวดล้อม4  ที่เป็นความกังวลของนักท่องเที่ยวจากการท่องเที่ยวในรูปแบบเดิม รวมทั้งผลักดันให้
เมืองเก่าน่าน และอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยฯ ได้รับรางวัล 1 ใน 100 แหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในปี 2564 ของโลก5  อีกด้วย
นอกจากนี้ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำโครงการโรงแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Hotel) ส่งเสริมให้โรงแรมที่ต้องการได้รับการรับรองมีการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่าและ
มีประสิทธิภาพ มีการจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อมที่ดี และมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น ยกระดับมาตรฐานการบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นตัวเลือกแก่นักท่องเที่ยวในการเลือกใช้บริการ ผ่านการรับรองตราสัญลักษณ์ G (Green) ใน 3 ระดับ ได้แก่ ทอง เงิน และทองแดง พร้อมประกาศนียบัตร อายุการรับรอง 3 ปี ซึ่งปัจจุบันมีโรงแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและได้รับการรับรองตราสัญลักษณ์ G
ไปแล้วจำนวน 528 โรงแรม6
โดยสรุป การดำเนินการเพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่การท่องเที่ยวจากความร่วมมือกันของทุกฝ่ายนั้น จะก่อให้เกิดผลดีต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่จะทำให้ทุกภาคส่วนจะได้ตระหนักและมีส่วนร่วมในการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นโอกาสของภาคเอกชนในการตอบโจทย์กระแสรักษ์โลกผ่านการปรับรูปแบบของธุรกิจให้เป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวที่ต้องการมีส่วนร่วมในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเต็มใจจ่ายสูงขึ้นต่อสินค้าและบริการที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  ให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว ลดต้นทุน สร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจ และชุมชนมากขึ้น ภายหลังจากที่สถานการณ์การท่องเที่ยวกลับมาดำเนินได้แบบปกติ





---------------------------------------------------------------------------------------------
 1 Sustainable Travel Report 2021, Booking.com
 2 UNESCO, พฤศจิกายน 2564
 3 จำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือน ปี 2563, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, คำนวณโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย
 4 เกณฑ์ GSTC สำหรับแหล่งท่องเที่ยว Version 2.0 , อพท.
 5 2021 Top 100 Destination Sustainability Stories, Green Destination Foundation
 6 สามารถตรวจสอบข้อมูลโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Hotel) ได้ที่ http://www.greenhotel.deqp.go.th/public/mainfile/gisdata

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest