Display mode (Doesn't show in master page preview)

12 กันยายน 2562

Econ Digest

ถอดรหัส...การบินเจิ้งโจว สู่ต้นแบบ มหานครการบินภาคตะวันออกไทย

คะแนนเฉลี่ย

         การร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาการบินร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และคณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจว (Zhengzhou Airport Economy Zone: ZAEZ) จากมณฑลเหอหนานของจีนเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมานับเป็นอีกก้าวย่างที่สำคัญในการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) กลายเป็นมหานครการบินภาคตะวันออก (Eastern Aerotropolis) ตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ตั้งไว้

         ทั้งนี้ รัฐบาลกลางจีนได้กำหนดให้เขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจว (Zhengzhou Airport Economy Zone: ZAEZ) เป็นพื้นที่นำร่องสำหรับการพัฒนาเมืองรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “มหานครการบิน (Aerotropolis)" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ภาคกลาง (The Rise of Central China) โดยโมเดลดังกล่าวมีลักษณะเด่นคือ

       1) สร้างโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่มีการเชื่อมโยงการขนส่งทุกรูปแบบซึ่งมีท่าอากาศยานเป็นศูนย์กลาง เพื่อสนับสนุนการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบที่จะสนับสนุนให้เกิดการขยายตัวของเมือง ธุรกิจ และอุตสาหกรรมออกไปรอบนอก

        2) กำหนดเขตพื้นที่สำหรับแต่ละอุตสาหกรรมในพื้นที่โดยรอบท่าอากาศยานเชื่อมต่อกับโครงข่ายคมนาคมขนส่งเพื่อสร้างคลัสเตอร์อุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนการเติบโตของห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งจัดตั้งเขตพื้นที่สถาบันวิจัย เพื่อตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรม

           ​3) พัฒนาเขตที่อยู่อาศัยที่มุ่งเน้นคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี อันประกอบด้วยสถานศึกษา โรงพยาบาล สวนสาธารณะ และแหล่งท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดบุคลากรคุณภาพเข้ามาอาศัยในพื้นที่

            4) ดึงดูดการลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกเพื่อเป็นแม่เหล็กดึงดูดบรรดาบริษัทในหลากหลายอุตสาหกรรมให้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ตามมาด้วย เพื่อช่วยผลักดันการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจในพื้นที่

การพัฒนาเมืองตามโมเดลมหานครการบินส่งผลให้เมืองเจิ้งโจวประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านจากการเป็นเมืองเกษตรกรรมในอดีตให้กลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศและฐานการผลิตอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงที่สำคัญในพื้นที่ภาคกลางของจีน โดยในปี 2561 จีดีพีของเมืองเจิ้งโจวมีมูลค่าสูงถึง 1.01 ล้านล้านหยวน ขยายตัวร้อยละ 8.1 (YoY) สูงกว่าอัตราการขยายตัวของจีดีพีของมณฑลเหอหนานและทั้งประเทศจีนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 7.6 (YoY) และร้อยละ 6.6 (YoY) ตามลำดับ ในขณะที่มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของเจิ้งโจวขยายตัวร้อยละ 11.7 สูงกว่าอัตราการขยายตัวของทั้งมณฑลเหอหนานซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 7.2  

          ​อนึ่ง ด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของรัฐบาลไทยที่เล็งเห็นถึงบทบาทของท่าอากาศยานต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาเมือง จึงได้นำโมเดลมหานครการบินของเขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจวของจีนมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากความคล้ายคลึงกันระหว่างโมเดลของเขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจวกับเมืองการบินภาคตะวันออก ทั้งในด้านการมีทำเลที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ที่กำลังได้รับการพัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ (ท่าอากาศยานเจิ้งโจวซินเจิ้ง – เขตเศรษฐกิจจงหยวน; ท่าอากาศยานอู่ตะเภา – เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)) การเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมเป้าหมายที่คล้ายคลึงกัน (เจิ้งโจว - ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ วัสดุใหม่ อุตสาหกรรมชีวภาพและเวชกรรม เคมีภัณฑ์; อีอีซี – อุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve) และการเป็นเป้าหมายในการพัฒนาให้กลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งที่สำคัญเพื่อเป็นหัวหอกในการกระจายความเจริญไปยังพื้นที่รอบข้าง ทั้งนี้ ปัจจัยข้างต้นน่าจะทำให้การสร้างเมืองการบินภาคตะวันออกให้กลายเป็นมหานครการบิน (Aerotropolis) แห่งใหม่ของภูมิภาคนั้นมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ในเวลาอันรวดเร็ว


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest