Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 ตุลาคม 2562

Econ Digest

WTO เห็นชอบสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าอียู 7.5 พันล้านดอลลาร์ฯ เหตุ... อียูอุดหนุนอุตฯ การบินไม่เป็นธรรม

คะแนนเฉลี่ย

สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรปเป็นวงเงิน 7.5 พันล้านดอลลาร์ฯ หลังจากที่ WTO มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการได้ เนื่องจากยุโรปให้การอุดหนุนอุตสาหกรรมการบินอย่างไม่เป็นธรรม โดยมีผลวันที่ 18 ต.ค. 2562 แบ่งเป็นการเก็บภาษีเครื่องบินพาณิชย์เพิ่มขึ้น 10% และเก็บภาษีสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตร 25% อาทิ เสื้อผ้า ผ้าห่ม เครื่องจักร หนังสือ ผลิตภัณฑ์จากนม มะกอก วิสกี้ ไวน์ เหล้า อาหารทะเลแปรรูป เนื้อหมูสดและแปรรูป ผลไม้สดและแปรรูป ซึ่งรายการสินค้าจะต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่เยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และสเปนมีรายการสินค้าที่ถูกเก็บภาษีมากที่สุด

เป็นที่น่าสังเกตว่าการกระทำของสหรัฐฯ ครั้งนี้ต่างจากกรณีของจีน ตรงที่สหรัฐฯ เดินเกมโดยดึง WTO เข้ามาเป็นเครื่องมือเพื่อให้มีความชอบธรรมในการดำเนินการกดดันคู่กรณีภายใต้บรรทัดฐานสากล (Rule-base) แต่ก็สะท้อนว่าสหรัฐฯ เองก็ไม่ต้องการจะรุก EU อย่างรุนแรง เพราะ EU ไม่เพียงเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าขั้นกลางและสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญของสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญที่สุดมีผลต่อรายได้การส่งออกถึง 19% (เมื่อเทียบกับจีนที่มีเพียงแค่ 7%) ซึ่งถ้าก่อสงครามโดยตรงกับ EU ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ให้ไถลลงจากปัจจุบันที่อ่อนแรงอยู่แล้วเพราะสงครามการค้าที่ก่อไว้กับจีน ดังนั้น การมีเงื่อนไขของ WTO เข้ามาเป็นหน้าฉากในการรุกกดดัน EU นั้นก็เพื่อเร่งรัดให้เกิดการเจรจาเพื่อสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน ลดทอนความเสี่ยงที่จะยกระดับการเก็บภาษีไปสินค้ารถยนต์และส่วนประกอบที่เป็นประเด็นค้างคาอยู่ และหยุดไม่ให้เรื่องราวบานปลายไปเหมือนกับที่เกิดขึ้นกับจีนในขณะนี้

นอกจากนี้ สินค้า EU ที่ถูกเก็บภาษีสินค้าดังกล่าวแทบไม่กระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยในปีนี้ เนื่องจากสินค้าไทยไม่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่การผลิตของธุรกิจการบินและการผลิตสินค้าอาหารของยุโรปเท่าใดนักเพราะเป็นสินค้าคนละกลุ่มกับสินค้าที่เป็นประเด็น โดยสินค้าไทยที่ส่งออกไป EU ได้แก่ HDDs รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า ไก่แปรรูป รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ขณะที่การส่งออกของไทยไป EU ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2562 ที่หดตัว 5.5% นั้นมีสาเหตุจากความเปราะบางของเศรษฐกิจ EU เป็นหลัก ในทางกลับกันสินค้าไทยที่จะส่งออกไปแทนที่สินค้ายุโรปในสหรัฐฯ เองก็แทบจะทดแทนกันไม่ได้

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจของ EU ที่อ่อนแรงในปี 2562 ยังคงมีสาเหตุหลักจากเรื่องแยกตัวของสหราชอาณาจักร (BREXIT) ขณะที่ผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวยังค่อนข้างจำกัดในปีนี้ แม้ว่าสหรัฐฯ จะเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญที่สุดของ EU มีมูลค่า 4.45 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2561 ซึ่งสินค้าที่ได้รับผลกระทบมีสัดส่วนเพียง 1.68% และในเบื้องต้นสินค้าดังกล่าวจำกัดอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมการบินและสินค้าเกษตรบางประเภทซึ่งต้องติดตามการปรับตัวของธุรกิจและการจ้างงานในระยะต่อไป แต่ถ้าหากการตอบโต้ทางการค้าระหว่างกันเพิ่มความรุนแรงขึ้นอาจยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจ EU ในปี 2563 ให้อ่อนแรงลงอีก และอาจกระทบการส่งออกในภาพรวมของไทยไป EU ตามมา​


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest