Display mode (Doesn't show in master page preview)

4 มีนาคม 2566

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 27 ก.พ. – 3 มี.ค. 66)

คะแนนเฉลี่ย

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาทอ่อนค่าไปที่ 35.39 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 เดือนในช่วงแรก โดยมีปัจจัยลบจากข้อมูลดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่พลิกกลับมาขาดดุลในเดือนม.ค. ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ยังมีแรงหนุนต่อเนื่องจากการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด อย่างไรก็ดีเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ตามเงินหยวนที่ได้รับอานิสงส์จากข้อมูล PMI เดือนก.พ. ของจีนที่บ่งชี้ถึงการเริ่มฟื้นตัวขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในจีน กรอบแข็งค่าของเงินบาทเริ่มจำกัดลงบางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่ตลาดรอติดตามสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ จากสุนทรพจน์ของประธานเฟดต่อสภาคองเกรสในวันที่ 7-8 มี.ค. นี้
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 6-10 มี.ค. 2566 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.40-35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ สุนทรพจน์ต่อสภาคองเกรสของประธานเฟด อัตราเงินเฟ้อเดือนก.พ. ของไทยและจีน ทิศทางเงินลงทุนของต่างชาติและสกุลเงินเอเชีย ข้อมูลตลาดแรงงานเดือนก.พ. ของสหรัฐฯ ตลอดจนผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นและธนาคารกลางออสเตรเลีย


สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดต่ำสุดในรอบกว่า 2 เดือน ท่ามกลางแรงขายต่อเนื่องของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ โดยปัจจัยกดดันหลักๆมาจากความกังวลว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในเชิงรุกมากขึ้น หลังตัวเลขเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนี PCE เดือนม.ค. ของสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าตลาดคาด และตัวเลขส่งออกเดือนม.ค. ของไทยที่ออกมาหดตัวต่อเนื่อง อนึ่ง หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวขึ้นสวนทางภาพรวมในสัปดาห์นี้ โดยมีแรงหนุนจากหุ้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่งจากแนวโน้มธุรกิจที่ยังคงสดใส และหุ้นบริษัทด้านการสื่อสารจากประเด็นการควบรวมธุรกิจ
  • สัปดาห์ที่ 6-10 มี.ค. 2566 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,600 และ 1,575 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,620 และ 1,63 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.พ. ของไทยและจีน ถ้อยแถลงของประธานเฟด ประเด็นการเมืองภายในประเทศ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ข้อมูลตลาดแรงงานเดือนก.พ. ของสหรัฐฯ การประชุม BOJ ตลอดจนตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/65 ของยูโรโซนและญี่ปุ่น

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น