Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 พฤศจิกายน 2566

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 30 ต.ค. – 3 พ.ย. 66)

คะแนนเฉลี่ย

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาทแตะแข็งค่าสุดในรอบประมาณ 1 เดือนครึ่งที่ 35.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ตามสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ก่อนจะอ่อนค่ากลับมาในช่วงกลางสัปดาห์ตามการปรับตัวลงของราคาทองคำในตลาดโลก และแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ ก่อนการประชุมเฟด อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกแข็งค่าอีกครั้งหลังการประชุมเฟด ซึ่งคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามเดิมที่ 5.25-5.50% และมีท่าทีในเชิงคุมเข้มน้อยกว่าที่ตลาดกังวล ซึ่งทำให้ตลาดตีความว่า โอกาสที่จะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติมของเฟดในระยะข้างหน้า น่าจะลดน้อยลง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าที่คาดด้วยเช่นกัน
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 6-10 พ.ย. 2566 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.40-36.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของไทยเดือนต.ค. สัญญาณเงินทุนต่างชาติ ทิศทางสกุลเงินเอเชีย สถานการณ์ในอิสราเอล ถ้อยแถลงของประธานเฟด และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย. (เบื้องต้น) ของสหรัฐฯ ผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย ดัชนี PMI ภาคบริการเดือนต.ค. ของญี่ปุ่นและยูโรโซน และตัวเลขเศรษฐกิจเดือนต.ค. ของจีน อาทิ ตัวเลขการส่งออก ดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีราคาผู้ผลิต


สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • ดัชนีหุ้นไทยกลับมายืนเหนือ 1,400 จุดได้อีกครั้ง ทั้งนี้หุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากไร้ปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนในช่วงก่อนผลการประชุมเฟด ประกอบกับสถานการณ์ความขัดแย้งในอิสราเอลยังคงยืดเยื้อ อย่างไรก็ดี หุ้นไทยดีดตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ หลังเฟดมีมติคงดอกเบี้ยตามตลาดคาด พร้อมส่งสัญญาณซึ่งตลาดตีความว่า เฟดอาจยุติวงจรการปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ส่งผลให้มีแรงซื้อคืนหุ้นทุกกลุ่ม นำโดย ไฟแนนซ์และเทคโนโลยีซึ่งมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากผลประกอบการไตรมาส 3/66 ของผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่งที่ออกมาดีกว่าตลาดคาด  
  • สัปดาห์ที่ 6-10 พ.ย. 2566 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,400 และ 1,385 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,430 และ 1,450 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนต.ค. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ผลประกอบการไตรมาส 3/66 ของบจ.ไทย ตัวเลขนำเข้าและตัวเลขส่งออกเดือนก.ย. ของสหรัฐฯ ดัชนี PMI ภาคการบริการเดือนต.ค. ของญี่ปุ่นและยูโรโซน ตลอดจนข้อมูลเศรษฐกิจเดือนต.ค.ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น