Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 เมษายน 2566

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 3-7 เม.ย. 66)

คะแนนเฉลี่ย

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาทแข็งค่าผ่านแนว 34.00 ไปแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 1 เดือนครึ่งที่ 33.79 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนลดช่วงบวกบางส่วนปลายสัปดาห์ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาด ซึ่งกระตุ้นการคาดการณ์ของตลาดว่า เฟดใกล้จะสิ้นสุดแนวโน้มการคุมเข้มนโยบายการเงิน โดยเฉพาะหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงต่อภาวะถดถอยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี เงินบาทอ่อนค่ากลับมาในช่วงปลายสัปดาห์ตามทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่แรงขายเงินดอลลาร์ฯ ชะลอลงบางส่วน เนื่องจากตลาดรอติดตามข้อมูลตลาดแรงงานของสหรัฐฯ เพื่อประเมินทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า    
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 10-14 เม.ย. 2566 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.80-34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ การทบทวนประมาณการเศรษฐกิจโลกของ IMF ทิศทางเงินทุนต่างชาติและสกุลเงินเอเชีย ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมี.ค.  ของสหรัฐฯ และจีน รายงานการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 21-22 มี.ค. รวมถึงผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางเกาหลี


สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • หุ้นไทยร่วงลงตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ โดยเผชิญแรงฉุดหลักจากแรงขายหุ้นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่แห่งหนึ่งเพื่อลดความเสี่ยง เนื่องจากตลท. ประกาศให้เข้าเกณฑ์ต้องใช้บัญชีเงินสดในการซื้อขายหลักทรัพย์ หลังราคาหุ้นปรับขึ้นค่อนข้างร้อนแรงในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี หุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ตามทิศทางหุ้นภูมิภาค ประกอบกับมีแรงซื้อคืนหุ้นหลังร่วงลงแรงก่อนหน้านี้ อนึ่ง หุ้นกลุ่มพลังงานดีดตัวแรงช่วงต้นสัปดาห์ โดยมีแรงหนุนจากราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวขึ้น หลังโอเปกพลัสประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันลงอีก 1.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนหุ้นกลุ่มแบงก์มีแรงซื้อเข้ามาก่อนการประกาศงบไตรมาส 1/66
  • สัปดาห์ที่ 10-14 เม.ย. 2566 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,565 และ 1,550 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,595 และ 1,615 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก การปรับโพสิชันของนักลงทุนก่อนการประกาศผลประกอบการงวดไตรมาส 1/66 ของบจ.ไทย ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมี.ค.  ของสหรัฐฯ และจีน รวมถึงรายงานการประชุมเฟด (21-22 มี.ค.)

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น