Display mode (Doesn't show in master page preview)

8 มีนาคม 2567

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 4-8 มี.ค. 67)

คะแนนเฉลี่ย

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 5 สัปดาห์ โดยเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นตลอดสัปดาห์สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงเทขายอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่สุนทรพจน์ต่อสภาคองเกรสของประธานเฟด หนุนโอกาสความเป็นไปได้ที่จะเห็นการเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเฉพาะเมื่อเฟดมั่นใจว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอลงกลับเข้าสู่ระดับเป้าหมาย นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ยังมีปัจจัยลบจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนเดือนก.พ. ซึ่งเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ตลาดคาด ขณะที่เงินบาทมีแรงหนุนเพิ่มเติมตามจังหวะการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก ซึ่งพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในระหว่างสัปดาห์
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 11-15 มี.ค. 2567 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.15-35.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินลงทุนต่างชาติ สถานการณ์ราคาทองคำในตลาดโลก การเคลื่อนไหวของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค และข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และตัวเลขยอดค้าปลีกเดือนก.พ. ของสหรัฐฯ ข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค. ของยูโรโซน ตลอดจนตัวเลขการปล่อยกู้ใหม่สกุลเงินหยวนเดือนก.พ.ของจีน

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • หุ้นไทยย่อตัวลงในช่วงต้นสัปดาห์ตามแรงขายต่อเนื่องของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ หลังจบช่วงประกาศผลประกอบการไตรมาส 4/66 ประกอบกับยังไร้ปัจจัยใหม่ๆ เข้ามากระตุ้นตลาด อย่างไรก็ดี หุ้นไทยเริ่มพลิกมาขยับขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ โดยมีแรงซื้อคืนหุ้นเข้ามาหนุน หลังจากหุ้นไทยปรับตัวลงติดต่อกัน 7 วันทำการ ก่อนจะดีดตัวขึ้นแรงอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ตามทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาค หลังประธานเฟดส่งสัญญาณว่า เฟดอาจใกล้ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เหมาะสม แม้จะไม่ได้ให้กรอบเวลาที่ชัดเจนก็ตาม สำหรับสัปดาห์นี้ หุ้นไทยปรับขึ้นถ้วนหน้าโดยเฉพาะช่วงท้ายสัปดาห์ นำโดย หุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ซึ่งคาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากทิศทางดอกเบี้ยขาลง รวมถึงกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มพลังงาน
  • สัปดาห์ที่ 11-15 มี.ค. 2567 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,375 และ 1,355 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,415 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และยอดค้าปลีกเดือนก.พ. ของสหรัฐฯ  ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนม.ค. ของยูโรโซนและอังกฤษ ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนก.พ. ของญี่ปุ่น ตลอดจนยอดปล่อยกู้สกุลเงินหยวนเดือนก.พ. ของจีน

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น