Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 กุมภาพันธ์ 2567

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 19-23 ก.พ. 67)

คะแนนเฉลี่ย

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หลังตัวเลขจีดีพีไทยปี 2566 เติบโตเพียง 1.9% และสภาพัฒน์ฯ ได้มีการปรับทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ลงมาที่กรอบ 2.2-3.2% อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกแข็งค่าหลุดระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงกลางสัปดาห์ตามทิศทางของเงินหยวน ประกอบกับน่าจะมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก และแรงซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของต่างชาติ เงินบาทอ่อนค่ากลับไปอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์ตามภาพรวมของสกุลเงินในภูมิภาค ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวแข็งค่ากลับมาตามบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ที่ขยับขึ้นจากการคาดการณ์ว่า เฟดจะไม่รีบลดดอกเบี้ยในรอบการประชุมใกล้ๆ นี้  
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 26 ก.พ. – 1 มี.ค. 2567 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 35.70-36.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินลงทุนต่างชาติ รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนม.ค. ของธปท. ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด อัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Indices เดือนม.ค. ของสหรัฐฯ ตลอดจนดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนม.ค. ของสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และยูโรโซน


สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • หุ้นไทยปรับตัวลงช่วงต้นสัปดาห์หลังตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/66 ขยายตัวเพียง 1.7% YoY (ทั้งปี 2566 ขยายตัว 1.9%) ประกอบกับมีแรงขายหุ้นกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากผิดหวังเรื่องผลประกอบการไตรมาส 4/66 อย่างไรก็ดีหุ้นไทยดีดตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ตามแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มแบงก์จากข่าวการประกาศจ่ายเงินปันผลของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง นอกจากนี้การที่ ตลท. เตรียมออกมาตรการการกำกับดูแลการขายชอร์ต (short selling) และการใช้คอมพิวเตอร์ส่งคำสั่งซื้อขาย (program trading) รวมถึงมาตรการเพิ่มการเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณชน ก็เป็นปัจจัยบวกเพิ่มเติมที่ช่วยหนุนให้หุ้นไทยปรับตัวขึ้นผ่านระดับ 1,400 จุดได้อีกครั้ง อย่างไรก็ดีหุ้นไทยย่อตัวลงหลุดระดับ 1,400 จุดในช่วงปลายสัปดาห์ เพราะแม้จะมีปัจจัยบวกจากตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนม.ค. ที่ออกมาดีกว่าที่คาด แต่ก็มีแรงขายทำกำไรในหุ้นบิ๊กแคป โดยเฉพาะกลุ่มแบงก์และไฟแนนซ์ซึ่งดีดตัวขึ้นแรงก่อนหน้านี้
  • สัปดาห์ที่ 26 ก.พ. – 1 มี.ค. 2567 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,385 และ 1,375 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,410 และ 1,420 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ดัชนี PCE/Core PCE Price Indices เดือนม.ค. ของสหรัฐฯ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนก.พ. ของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน ยูโรโซนและอังกฤษ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนม.ค. ของญี่ปุ่น รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.พ. ของยูโรโซน

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น