Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 ธันวาคม 2565

Econ Digest

จับตาค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย สรุปความเคลื่อนไหวสัปดาห์ที่ 19-23 ธ.ค. 65

คะแนนเฉลี่ย

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นช่วงต้น-กลางสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเงินเยน หลังธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศขยายกรอบการเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์รัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีมาเป็นกรอบ +/- 0.50% จากเดิม +/- 0.25% ซึ่งทำให้ตลาดตีความว่าเป็นการปรับท่าทีไปในเชิงคุมเข้มของ BOJ อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงบวกลงบางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ หลังจากที่เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งทำให้มีความกังวลว่า เฟดจะคงส่งสัญญาณนโยบายการเงินแบบคุมเข้มต่อไป   
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 26-30 ธ.ค. 2565 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.50-35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขการส่งออก และรายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนพ.ย. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์โควิดในจีน การเคลื่อนไหวของสกุลเงินเอเชีย สัญญาณและท่าทีต่อทิศทางนโยบายการเงินของผู้ว่าการ BOJ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ รวมถึงข้อมูลกำไรภาคอุตสหกรรมเดือนพ.ย. ของจีน


สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • SET Index เผชิญแรงขายในช่วงต้นสัปดาห์ตามตลาดหุ้นต่างประเทศ จากความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มสูงขึ้น หลังจากที่ธนาคารกลางหลายประเทศยังคงส่งสัญญาณในเชิงคุมเข้มนโยบายการเงิน ขณะที่ล่าสุด BOJ ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนกรอบการเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์อายุ 10 ปีให้กว้างขึ้นด้วยเช่นกัน หุ้นไทยทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์ นำโดย หุ้นแบงก์ พลังงานและเทคโนโลยี แต่กรอบขาขึ้นเป็นไปอย่างจำกัดช่วงปลายสัปดาห์ เนื่องจากตลาดยังคงกังวลแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด
  • สัปดาห์ที่ 26-30 ธ.ค. 2565 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,600 และ 1,590 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,625 และ 1,635 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์โควิดในจีน การทำ Window Dressing ช่วงสิ้นปี ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนพ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ตลอดจนกำไรบริษัทภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย. ของจีนและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย. ของญี่ปุ่น

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น