Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 สิงหาคม 2566

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 21-25 ส.ค. 66)

คะแนนเฉลี่ย

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 สัปดาห์ที่ 34.84 บาทต่อดอลลาร์ฯ ทั้งนี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ แม้จะมีปัจจัยลบจากตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/66 ของไทยที่ชะลอลงมากกว่าที่ตลาดคาด โดยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับทิศทางเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติท่ามกลางความหวังว่า น่าจะมีการเดินหน้าของกระบวนการทางการเมืองไทยและเตรียมการจัดตั้งรัฐบาล อย่างไรก็ดีกรอบการแข็งค่าของเงินบาทเป็นไปอย่างจำกัดในช่วงปลายสัปดาห์ หลังจากตัวเลขการส่งออกไทยเดือนก.ค. หดตัวมากกว่าที่คาด ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ ประกอบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดยังคงมีท่าทีหนุนการคุมเข้มนโยบายการเงิน นอกจากนี้ยังมีแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ ก่อนการกล่าวสุนทรพจน์ของประธานเฟดในงานสัมมนาประจำปีของเฟดด้วยเช่นกัน
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 28 ส.ค. – 1 ก.ย. 2566 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.90-35.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนก.ค. และปัจจัยทางการเมืองของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ค่าเงินหยวน ข้อมูลตลาดแรงงานเดือนส.ค. และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลเดือนก.ค. ของสหรัฐฯ ตลอดจนดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนส.ค.ของสหรัฐฯ จีน ยูโรโซน และอังกฤษ


สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นตลอดสัปดาห์ ท่ามกลางความหวังเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งในระหว่างสัปดาห์ก็มีความชัดเจนเกี่ยวกับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้มีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะไฟแนนซ์ ที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการภาครัฐ ขณะที่นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทยอีกครั้ง หลังจากขายสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์ อย่างไรก็ดีกรอบการปรับขึ้นของหุ้นไทยเริ่มจำกัดในช่วงปลายสัปดาห์ หลังตอบรับประเด็นบวกภายในประเทศไปพอสมควร ประกอบกับหุ้นภูมิภาคปรับตัวลงระหว่างรอติดตามถ้อยแถลงของประธานเฟดจากงานประชุมสัมมนาประจำปีที่เมืองแจ็กสัน โฮล
  • สัปดาห์ที่ 28 ส.ค. – 1 ก.ย. 2566 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,540 และ 1,515 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,565 และ 1,580 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์การเมืองในประเทศ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ข้อมูลตลาดแรงงานเดือนส.ค. และดัชนี PCE/Core PCE Price Index เดือนก.ค. ของสหรัฐฯ ตลอดจนดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนส.ค. ของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีนและยูโรโซน

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น