Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 ตุลาคม 2566

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 24-27 ต.ค. 66)

คะแนนเฉลี่ย

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 1 เดือนที่ 36.06 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นสัปดาห์ สอดคล้องกับทิศทางแข็งค่าของสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชียท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ (หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ปรับตัวลง) ประกอบกับมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากตัวเลขการส่งออกเดือนก.ย. ของไทยที่ขยายตัวมากกว่าที่คาด และการกลับเข้ามาซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงบวกและอ่อนค่ากลับมาบางส่วนในระหว่างสัปดาห์ หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีกว่าที่คาด หนุนบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ฯ ให้แข็งค่าขึ้น เงินบาทกลับมาปรับตัวในกรอบแคบในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่แรงหนุนเงินดอลลาร์ฯ ชะลอลง หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปีไม่สามารถทรงตัวเหนือระดับ 5.00% ได้
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 30 ต.ค. – 3 พ.ย. 2566 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 36.00-36.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุม FOMC, BOJ และ BOE รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนก.ย. ของธปท. สัญญาณเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ในอิสราเอล ข้อมูลตลาดแรงงานเดือนต.ค. ของสหรัฐฯ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 และอัตราเงินเฟ้อเดือนต.ค. ของยูโรโซน และข้อมูล PMI ภาคการผลิตเดือนต.ค. ของสหรัฐฯ จีน ยูโรโซน และอังกฤษ


สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • ดัชนีหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาบางส่วนปลายสัปดาห์ หลังร่วงลงแรงในระหว่างสัปดาห์ โดยภาพรวมหุ้นไทยปรับตัวลงท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ โอกาสที่เฟดจะตรึงดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานาน ตลอดจนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศยังไม่มีข้อสรุป อย่างไรก็ดีหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาบางส่วนปลายสัปดาห์ตามทิศทางหุ้นภูมิภาค ประกอบกับมีแรงซื้อคืนหุ้นบิ๊กแคป อนึ่ง หุ้นกลุ่มที่กดดันตลาดตลอดสัปดาห์นี้ ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยีซึ่งเผชิญแรงขายสอดคล้องกับหุ้นเทคโนโลยีในสหรัฐฯ และกลุ่มแบงก์ซึ่งเผชิญแรงขายทำกำไรหลังประกาศงบฯ ไตรมาส 3/66
  • สัปดาห์ที่ 30 ต.ค. – 3 พ.ย. 2566 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,360 และ 1,350 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,420 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุม FOMC, BOJ และ BOE ทิศทางเงินทุนต่างชาติ ผลประกอบการไตรมาส 3/66 ของบจ.ไทย ข้อมูลตลาดแรงงานเดือนต.ค. ของสหรัฐฯ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนต.ค. ของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน และยูโรโซน ตลอดจนตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/66 และอัตราเงินเฟ้อเดือนต.ค. ของยูโรโซน

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น