Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 ธันวาคม 2566

Econ Digest

ค่าเงินบาท และตลาดหุ้นไทย (สัปดาห์ที่ 25-28 ธ.ค. 66)

คะแนนเฉลี่ย

สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท

  • เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 5 เดือนที่ 34.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในสัปดาห์สุดท้ายของปี 2566 โดยเงินบาทและสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคยังคงแข็งค่าขึ้นท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ และการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ จากกระแสการคาดการณ์ถึงโอกาสการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในปี 2567 หลังจากที่ดัชนีราคา PCE Price Index และ Core PCE Price Index ของสหรัฐฯ ชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดในเดือนพ.ย. นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลกและแรงซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของต่างชาติด้วยเช่นกัน
  • สัปดาห์ระหว่างวันที่ 2-5 ม.ค. 2567 KBank คาดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 33.80-34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณเงินทุนต่างชาติ อัตราเงินเฟ้อเดือนธ.ค. 66 ของไทย ข้อมูลตลาดแรงงานเดือนธ.ค. 66 ของสหรัฐฯ บันทึกการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 12-13 ธ.ค. 66 รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนธ.ค. 66 ของสหรัฐฯ จีน ยูโรโซน และอังกฤษ


สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย

  • ดัชนีหุ้นไทยปิดบวก และยังยืนเหนือ 1,400 จุดได้ในสัปดาห์สุดท้ายของปี 2566 ทั้งนี้หุ้นไทยปรับตัวขึ้นในภาพรวม โดยมีแรงหนุนจากคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดในปี 2567 ตัวเลขส่งออกเดือนพ.ย. 2566 ของไทยที่ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ตลอดจนแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ รวมถึงการทำ Window Dressing ช่วงปลายปี อย่างไรก็ดี นักลงทุนบางส่วนชะลอการลงทุนก่อนวันหยุดช่วงปีใหม่ ส่งผลให้ปริมาณการซื้อขายค่อนข้างเบาบาง อนึ่ง หุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ปรับตัวลงแรงในช่วงปลายสัปดาห์สวนทางภาพรวมตลาด เนื่องจากกังวลเรื่องผลกระทบจากเกณฑ์การปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมที่จะเริ่มในช่วงต้นปี 2567
  • สัปดาห์ที่ 2-5 ม.ค. 2567 KSecurities คาดแนวรับที่ 1,400 และ 1,380 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,430 และ 1,450 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ อัตราเงินเฟ้อเดือนธ.ค. ของไทยและยูโรโซน ข้อมูลตลาดแรงงานเดือนธ.ค. ของสหรัฐฯ บันทึกการประชุมเฟด รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการเดือนธ.ค. ของสหรัฐฯ จีน ยูโรโซนและญี่ปุ่น

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น