Display mode (Doesn't show in master page preview)

20 พฤศจิกายน 2562

Econ Digest

ฟิลิปปินส์...เล็งตอบโต้ไทยกรณีพิพาทคดีภาษีบุหรี่ ขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ หากยืดเยื้อ อาจมีย้ายฐานการผลิตบางรุ่นไป...?

คะแนนเฉลี่ย

              จากกรณีข้อพิพาทคดีภาษีบุหรี่ระหว่างประเทศไทยกับฟิลิปปินส์ซึ่งยืดเยื้อมานานกว่า 7 ปี โดยฟิลิปปินส์กล่าวอ้างว่าไทยไม่ปฏิบัติตามพันธสัญญาที่มีกับ WTO ที่จะสร้างความเป็นธรรมด้านภาษีและการแข่งขันระหว่างบุหรี่ที่ผลิตในประเทศและนำเข้า ส่งผลให้ทางฟิลิปปินส์กำลังพิจารณาที่จะตอบโต้ไทยโดยเพิ่มภาษีการนำเข้ารถยนต์จากไทย โดยขู่จะดำเนินการภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าหากการเจรจาไม่มีความคืบหน้าในทางที่ดีระหว่างกัน และรัฐบาลฟิลิปปินส์ดำเนินการปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์จากไทยจริงตามคำขู่นั้น น่าจะมีผลทำให้ไทยซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่สุดของฟิลิปปินส์ได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจเลี่ยง

                ทั้งนี้ เนื่องมาจากฟิลิปปินส์ได้กลายมาเป็นประเทศผู้นำเข้ารถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของไทยต่อเนื่องมานับตั้งแต่ปี 2557 ด้วยสัดส่วนสูงถึงกว่าร้อยละ 12 ของมูลค่าการส่งออกรถยนต์ของไทยทั้งหมดในปีที่ผ่านมา ไม่เพียงเท่านั้น เนื่องจากฟิลิปปินส์นำเข้ารถยนต์นั่งเป็นส่วนใหญ่จากไทยและอินโดนีเซียในปริมาณที่พอๆกัน ดังนั้นหากไทยสูญเสียสิทธิประโยชน์ทางภาษีในสินค้ารถยนต์ ขณะที่อินโดนีเซียยังได้สิทธินั้นอยู่ ย่อมจะส่งผลต่อการส่งออกรถยนต์ของไทย และอาจรวมไปถึงผลต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยในอนาคตด้วย เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ารถยนต์นั่งของค่ายญี่ปุ่นรายใหญ่ที่ผลิตในไทยนั้น ต่างก็มีสายการผลิตรถในรุ่นเดียวกันในประเทศฐานการผลิตอื่นในอาเซียนด้วย โดยเฉพาะอินโดนีเซีย จะมีก็แต่รถปิกอัพเท่านั้นที่ไทยยังคงจะเป็นฐานการผลิตหลักขนาดใหญ่ในอาเซียนอยู่

           ​อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการเจรจาเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวน่าจะไม่ยืดเยื้อ ทำให้ฟิลิปปินส์ใช้มาตรการดังกล่าวในระยะสั้นเท่านั้น และมีโอกาสที่ค่ายรถที่มีฐานผลิตรถยนต์นั่งส่งออกไปฟิลิปปินส์รุ่นเดียวกันกับไทย อาจใช้วิธีการเพิ่มปริมาณการผลิตในอินโดนีเซียชั่วคราว  และยังคงส่งออกรถยนต์นั่งบางส่วนจากไทยไป ขณะที่ค่ายรถยนต์นั่งที่ไม่มีฐานการผลิตรุ่นเดียวกันในประเทศอื่นซึ่งรวมถึงรถปิกอัพด้วยนั้น อาจต้องเผชิญกับปัญหาภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น และทำให้ส่งออกรถยนต์ได้น้อยลง ซึ่งในกรณีนี้ คาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกรถยนต์ของไทยไปฟิลิปปินส์ลดลง โดยระดับความรุนแรงขึ้นอยู่กับระดับภาษีที่รัฐบาลฟิลิปปินส์จะตั้งขึ้น โดยทุกการคิดภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ของฟิลิปปินส์ มีโอกาสส่งผลกระทบทำให้ตัวเลขการส่งออกจากไทยไปฟิลิปปินส์ลดลงร้อยละ 5 จากตัวเลขฐานการส่งออกปี 2563 ไปฟิลิปปินส์ที่คาดว่าจะส่งออกได้ราว 100,000 คัน ทรงตัวจากปี 2562 ที่คาดว่าจะหดตัวลงกว่าร้อยละ 42 จากปี 2561 ที่ทำได้ 172,254 คัน อันเนื่องมาจากการส่งออกรถยนต์นั่งที่หดตัวสูงมากหลังตลาดหันไปนิยมรถอเนกประสงค์ที่ผลิตจากอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น

ทว่า หากเกิดกรณีที่การเจรจายืดเยื้อ ซึ่ง WTO อนุญาตให้ฟิลิปปินส์สามารถที่จะปรับขึ้นภาษีรถยนต์เฉพาะกับไทยเพื่อตอบโต้กรณีดังกล่าวได้นานถึง 5 ปี และสามารถต่ออายุได้อีกนั้น อาจมีผลไปถึงการพิจารณาย้ายฐานการผลิตรถยนต์บางส่วนในบางรุ่นออกจากไทย เพื่อปรับแผนการผลิตใหม่ตามความเหมาะสมกับตลาดมากขึ้น โดยอินโดนีเซียจะเป็นประเทศที่ถูกนำขึ้นมาพิจารณาในการขยายการลงทุนเพื่อรองรับตลาดฟิลิปปินส์ด้วย ซึ่งจะส่งผลทำให้ในระยะยาวอินโดนีเซียเกิดความได้เปรียบในเชิงของการแข่งขันกับอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยมากขึ้น อันจะมีผลต่อเนื่องไปถึงการส่งออกไปตลาดอื่นๆที่เคยเป็นตลาดส่งออกเดิมของไทยด้วย โดยเฉพาะในอาเซียนและโอเชียเนีย


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest