Display mode (Doesn't show in master page preview)

19 มีนาคม 2564

Econ Digest

คาด FED ชะลอวงเงิน QE* ในปี 2565 หากการจ้างงานฟื้นกลับมาเต็มที่ และเงินเฟ้อยืนเหนือเป้าหมายเฟดอย่างมั่นคง

คะแนนเฉลี่ย

​      ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สิ้นสุดการประชุมนโยบายการเงินวันที่ 16-17 มีนาคม 2564 ด้วยการยืนยันแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินแบบ “ผ่อนคลายอย่างมาก” โดยเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่กรอบ 0.00-0.25% และยืนวงเงินซื้อสินทรัพย์ หรือ วงเงิน QE ไว้ที่ 1.2 แสนล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือนตามเดิม ทั้งนี้แม้เฟดจะประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเติบโตถึง 6.5% ในปีนี้ (นับเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในรอบ 37 ปี) และเงินเฟ้ออาจขยับขึ้นไปที่  2.4% แต่ตลาดแรงงานที่ยังไม่ฟื้นกลับสู่ภาวะปกติในปีนี้ ทำให้เฟดยังคงเลือกที่จะไม่เปลี่ยนท่าที ไม่แสดงความกังวลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อ และย้ำกับตลาดว่าจะอัดฉีดสภาพคล่องอย่างต่อเนื่องต่อไป

      นอกจากนี้ มุมมองของเจ้าหน้าที่เฟดต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้ายังคงสะท้อนว่า โอกาสที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ จะถูกปรับขึ้นก่อนปี 2567 ยังเป็นได้น้อยมาก ซึ่งสัญญาณดังกล่าวช่วยหนุนการปรับตัวขึ้นของสินทรัพย์เสี่ยง และคลายความกังวลของตลาดลงบางส่วนจากที่ก่อนหน้านี้มีความกลัวว่า เฟดอาจต้องยุติการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน (ทั้งชะลอวงเงิน QE และ/หรือทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าเดิม) เพราะตัวเลขเงินเฟ้อส่งสัญญาณพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับการขยับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (บอนด์ยีลด์สหรัฐฯ)

      อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ต้องติดตามจะอยู่ที่ทิศทางของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ซึ่งยังเป็นขาขึ้น และอาจเป็นปัจจัยที่ช่วยประคองทิศทางเงินดอลลาร์ฯ ในยามที่เฟดยังคงทำ QE แต่ในขณะเดียวกันอาจเพิ่มแรงกดดันต่อทิศทางราคาทองคำและหุ้นบางกลุ่ม ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า หากเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความต่อเนื่อง และความเสี่ยงจากโควิด 19 ทยอยลดระดับลงหลังการฉีดวัคซีนคืบหน้าในวงกว้าง อาจเริ่มเห็นการส่งสัญญาณเตรียมชะลอวงเงิน QE ในปี 2565 เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปีหน้า น่าจะเข้าเงื่อนไขหลักของเฟด คือ 1) ตลาดแรงงานกลับมามีระดับการจ้างงานเต็มที่ และอัตราเงินเฟ้อสามารถประคองตัวยืนอยู่เหนือระดับ 2% ได้อย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพ  

      สำหรับผลต่อไทยนั้น แนวโน้มขาขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ อาจหนุนให้บอนด์ยีลด์ไทยปรับเพิ่มสูงขึ้นตาม ซึ่งคงมีผลกระทบต่อต้นทุนการระดมทุนในตลาดพันธบัตรของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสถาบันการเงินอาจทรงตัวตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยซึ่งน่าจะยืนที่ระดับ 0.50% ตามเดิมตลอดช่วงที่เหลือของปีนี้ และต่อเนื่องไปในช่วงปีข้างหน้า

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest