จากการประชุม FOMC วันที่ 21-22 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา เฟดมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 ตามคาด ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขยับมาอยู่ที่ระดับ 4.75-5.00% ขณะที่เฟดได้ส่งสัญญาณว่าวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้สิ้นสุดลง อย่างไรก็ดี เฟดยังคงให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ และมองว่าการดำเนินนโยบายตึงตัวเพิ่มเติมอาจมีความเหมาะสม ขณะที่ยังไม่มองการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2566สำหรับประเด็นปัญหาธนาคารสหรัฐฯ เฟดมองว่าระบบการธนาคารของสหรัฐนั้นยังคงแข็งแกร่ง แต่ปัญหาธนาคารสหรัฐฯ คงส่งผลให้เงื่อนไขสินเชื่อเข้มงวดขึ้นสำหรับภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไปยังกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า โดยเฟดก็ได้มีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ลงเล็กน้อย
สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงจากผลกระทบของการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 ของเฟด ประกอบกับปัญหาในภาคธนาคารสหรัฐฯ คงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านทางการส่งออกให้ชะลอตัวลงกว่าเดิม ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มทยอยปรับตัวลดลง ตามทิศทางราคาพลังงานในตลาดโลกที่ลดลงตามการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลก ในด้านแนวโน้มค่าเงินบาท คงจะเคลื่อนไหวผันผวนค่อนข้างมากต่อเนื่องไปในไตรมาสสองของปี 2566 ท่ามกลางสถานการณ์ต่างประเทศยังไม่นิ่ง เพียงแต่จังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดที่ชะลอความแรงลง ทำให้เงินบาทมีโอกาสแกว่งตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้น
|
Click ชมคลิป
เฟดมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ตามคาดพร้อมส่งสัญญาณวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้สิ้นสุดลง |
Scan QR Code
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น