Display mode (Doesn't show in master page preview)

14 มีนาคม 2568

Econ Digest

ประชุม FOMC วันที่ 18-19 มี.ค. คาดเฟดคงดอกเบี้ย แต่จะปรับลดอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง ในช่วงที่เหลือของปี จากความเสี่ยงเศรษฐกิจที่สูงขึ้น

คะแนนเฉลี่ย

ในการประชุม FOMC วันที่ 18-19 มี.ค. นี้ คาดว่าเฟดจะคงดอกเบี้ยที่ระดับ 4.25-4.50% เนื่องจากปัจจัยดังนี้

  • เงินเฟ้อยังอยู่สูงกว่าเป้าหมายของเฟด แม้ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปเดือนก.พ. อยู่ที่ 2.8% ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า และต่ำกว่าที่ตลาดคาด แต่ยังสูงกว่าเป้าหมายที่ 2.0% (รูปที่ 1)  ขณะที่ทิศทางแนวโน้มในระยะข้างหน้ามีความเสี่ยงมากขึ้นจากนโยบายการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ
  • ตลาดแรงงานยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากแนวโน้มเดิมอย่างมีนัยสำคัญ โดยอัตราการว่างงานเดือนก.พ. 2568 เร่งสูงขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าขึ้นมาอยู่ที่ 4.1% (รูปที่ 2) แต่ก็ยังเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต
  • เฟดคงรอดูแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะความเสี่ยงจากมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และมาตรการตอบโต้จากประเทศอื่นๆ สอดคล้องไปกับถ้อยแถลงของประธานเฟดที่กล่าวว่า เฟดไม่เร่งรีบที่จะลดอัตราดอกเบี้ยแม้ความไม่แน่นอนสูงขึ้น


        ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 2 ครั้งในปีนี้ โดยจังหวะการปรับลดคงขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่ออกมา ประกอบกับอาจมีการส่งสัญญาณชะลอการทำ Quantitative Tightening (QT) ลงสอดคล้องกับตลาดส่วนใหญ่ที่ปรับมุมมองต่อการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดมากขึ้นมาอยู่ที่ 3 ครั้งในปีนี้ (รูปที่ 3) ทั้งนี้ ในการประชุมรอบนี้จะมีการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และ Dot Plot ซึ่งเป็นปัจจัยที่ตลาดรอติดตาม
        ทิศทางนโยบายการเงินในระยะข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูงจากมาตรการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และมาตรการตอบโต้จากประเทศอื่นๆ ที่รุนแรงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้แนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าเผชิญความเสี่ยงที่จะปรับสูงขึ้น ซึ่งแรงกดดันเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงอาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคซึ่งมีสัดส่วนเกือบ 70% ของ GDP สหรัฐฯ ขณะที่การส่งออกของสหรัฐฯ มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากมาตรการตอบโต้จากประเทศอื่นๆ และทิศทางการค้าโลกที่ชะลอลง ซึ่งคงส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคการผลิตและการจ้างงานในสหรัฐฯ ในท้ายที่สุด ส่งผลให้เฟดต้องชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในการพิจารณานโยบายการเงินในระยะข้างหน้า

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest