Display mode (Doesn't show in master page preview)

6 กรกฎาคม 2566

Econ Digest

หนี้ครัวเรือนไตรมาส 1/66 อยู่ที่ 90.6% ต่อจีดีพี ไทยยังต้องเร่ง...เดินหน้ามาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืน

คะแนนเฉลี่ย

        ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับปรุงความครอบคลุมของข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน หรือหนี้ครัวเรือน โดยตามข้อมูลชุดใหม่จะรวมข้อมูลหนี้สินของภาคครัวเรือนเพิ่มเติมจาก 1) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. 2) การเคหะแห่งชาติ 3) พิโกไฟแนนซ์ และ 4) สหกรณ์อื่นๆ ที่นอกเหนือจากสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งจะทำให้เห็นภาระหนี้ของครัวเรือนได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของการกู้ยืมเพื่อการศึกษา และหนี้เพื่อการประกอบอาชีพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ของสหกรณ์ที่น่าจะมีรายได้ไม่สูง และ/หรือมีรายได้ไม่สม่ำเสมอ โดยยอดคงค้างหนี้ครัวเรือน ณ ไตรมาส 1/2566 ขยับขึ้นประมาณ 7.66 แสนล้านบาท จากยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนตามข้อมูลชุดเดิมที่ 15.19 ล้านล้านบาท มาอยู่ที่ 15.96 ล้านล้านบาทตามข้อมูลชุดใหม่ คิดเป็นสัดส่วน 90.6% ต่อจีดีพี  ชะลอลงจากไตรมาส 4/2565 ซึ่งอยู่ที่ 91.4% ต่อจีดีพี และยังคงเป็นภาพการทยอยปรับลดลงต่อเนื่องหลังจากที่แตะจุดสูงสุดที่ 95.5% ต่อจีดีพีในไตรมาส 1/2564 ที่ผ่านมา
        การก่อหนี้ก้อนใหม่ของภาคครัวเรือนเริ่มมีสัญญาณชะลอลง โดยเฉพาะหนี้ก้อนใหญ่ที่มีวงเงินต่อสัญญาค่อนข้างสูง ซึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจากความเปราะบางของฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือน การขยับสูงขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ รวมถึงปัจจัยเฉพาะของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจากการที่การผ่อนคลาย LTV สิ้นสุดลงในช่วงปลายปี 2565  
        สำหรับในปี 2566 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนอาจชะลอลงมาอยู่ที่กรอบ 88.5-91.0% ต่อจีดีพีในปี 2566 ซึ่งยังคงเป็นระดับไม่ยั่งยืนและต้องเฝ้าระวัง อย่างไรก็ดี การเดินหน้าแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของ ธปท. ที่ทยอยมีความชัดเจนมากขึ้นนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และน่าจะมีส่วนช่วยทำให้แรงกดดันต่อสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยทยอยคลายตัวลง แต่คงต้องยอมรับว่าโจทย์หนี้ครัวเรือนไทยในระยะข้างหน้ายังมีความซับซ้อน เพราะเกี่ยวข้องกับประเด็นด้านรายได้และพฤติกรรมการก่อหนี้ของภาคครัวเรือน และโครงสร้างประชากรไทยซึ่งมีแนวโน้มเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ ที่อาจส่งผลทำให้ครัวเรือนมีข้อจำกัดในการแก้หนี้มากขึ้น 

 


Click
 ชมคลิป หนี้ครัวเรือนไตรมาส 1/66 อยู่ที่ 90.6% ต่อจีดีพี ไทยยังต้องเร่ง...เดินหน้ามาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืน

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น