Display mode (Doesn't show in master page preview)

19 มีนาคม 2568

Econ Digest

BI คงดอกเบี้ย 5.75% ให้น้ำหนักกับการรักษาเสถียรภาพ ค่าเงินและการป้องกันเงินทุนไหลออก

คะแนนเฉลี่ย

        ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.75% ในการประชุมวันที่ 18-19 มี.ค. โดยให้น้ำหนักกับการปกป้องค่าเงินรูเปียห์จากการอ่อนค่าและความเสี่ยงจากเงินทุนไหลออกมากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้ รวมถึงคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ 5.00% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ 6.50% มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
•    ค่าเงินรูเปียห์ยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง เคลื่อนไหวอ่อนค่าในช่วงเช้าวันที่ 19 มี.ค.ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบห้าปีที่ 16,565 รูเปียห์/ดอลลาร์ฯ (Reuter) (รูปที่ 1) เงินทุนไหลออกจากตลาดต่อเนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสงครามการค้า และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของ Fed
•    อัตราเงินเฟ้อติดลบครั้งแรกตั้งแต่ปี 2000 อยู่ที่ -0.09%YoY ในเดือน ก.พ. เนื่องจากการควบคุมราคาสินค้าเกษตร และมาตรการลดค่าไฟฟ้าให้ครัวเรือนที่ใช้ไฟไม่เกิน 2,200VA อย่างไรก็ตาม มาตรการลดค่าไฟฟ้าจะสิ้นสุดในเดือน ก.พ. ซึ่งอาจทำให้เงินเฟ้อขยับตัวสูงขึ้นในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ เป้าหมายเงินเฟ้อของ BI อยู่ที่ 1.5-3.5% (รูปที่ 1)

•    ตลาดหุ้นอินโดนีเซียหยุดทำการซื้อ-ขายชั่วคราวหลังปรับตัวลดลงต่ำกว่าเกณฑ์ที่ 5% เมื่อวันที่ 18 มี.ค. นำโดยหุ้นในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ จากความกังวลด้านเศรษฐกิจ เงินรูเปียห์อ่อนค่า และความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินและการคลัง (รูปที่ 2) โดยเงินทุนไหลออกสุทธิตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 26.04 ล้านล้านรูเปียห์ โดยเฉพาะสัปดาห์ที่ผ่านมามีเงินทุนไหลออกสุทธิถึง 1.77 ล้านล้านรูเปียห์ มีรายละเอียด ดังนี้

-    ตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียเปิดตลาดวันที่ 18 มี.ค. JCI อยู่ที่ 6,458.67 จุด ขณะที่ตลาดหยุดชะงักอยู่ที่ 6,146 จุด ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2021 โดยเป็นการลดลงของหุ้นธนาคารและหุ้นขนาดใหญ่ อาทิ Bank Central Asia (BBCA) -2.62% Bank Mandiri (BMRI) -4.70% Bank Rakyat Indonesia (BBRI) -3.66% และ Petrosea (PTRO) -15.02% ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2025 ตลาดหุ้นอินโดนีเซียปรับตัวลดลงมา 14.2%

-    สถาบันการเงินระดับโลกอย่าง MSCI, JP Morgan และ Goldman Sachs ปรับลดคำแนะนำตลาดหุ้นอินโดนีเซียเป็น "Underweight" หรือ "Sell" ยิ่งทำให้เกิดแรงเทขายหลักทรัพย์อย่างรุนแรง

-    นโยบายภาครัฐที่ไม่ชัดเจน เช่น 1) การจัดตั้ง Danantara กองทุนเพื่อความมั่งคั่งของชาติที่ยังไม่มีรายละเอียดซึ่งมีส่วนทำให้เกิดแรงเทขายหุ้นกลุ่มธนาคารที่อยู่ในโครงการนี้ 2) ความไม่โปร่งใสของงบดุลและคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคาร BRI และ Mandiri กระทบต่อการเข้าถึงแหล่งทุนของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) 3) การยกเลิกหนี้ MSME ส่งผลต่อสภาพคล่องของธนาคารที่มีภาระหนี้กลุ่มนี้ 4) ความกังวลด้านนโยบายการคลังที่ขาดดุลสูงขึ้น รวมถึง 5) ความไม่โปร่งใสในการดำเนินงานภาครัฐที่ยังต้องติดตาม เป็นต้น

-    การบริโภคส่งสัญญาณชะลอตัว สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและยอดค้าปลีกปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 126.4 และหดตัว 0.5%YoY ในเดือน ก.พ.2025 (ตามลำดับ) (รูปที่ 3) ซึ่งเป็นผลการชะลอตัวของกำลังซื้อชนชั้นกลาง และอัตราการว่างงานที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากการสำรวจล่าสุดในเดือน ส.ค.2024 อัตราการว่างงานอยู่ที่ 4.9% เพิ่มขึ้นจาก 4.8% ในเดือน ก.พ.2024

-    อย่างไรก็ตาม วันที่ 19 มี.ค. หน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินของอินโดนีเซีย (Financial Service Authority: OJK) ผ่อนคลายกฎระเบียบการซื้อหุ้นคืนเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาด ส่งผลให้มีสัญญาณบวกจากหุ้นกลุ่มธนาคารที่จะดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว ทำให้ตลาดหุ้นอินโดนีเซียกลับมาปิดบวกได้ 1.4% อยู่ที่ 6,311.66 จุด

•    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า นับเป็นความท้าทายสำคัญของ BI ในการรักษาเสถียรภาพค่าเงินท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และกระแสเงินทุนไหลออก ทำให้มีข้อจำกัดในการลดดอกเบี้ยนโยบายซึ่งต้องอาศัยจังหวะที่เหมาะสมในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ หากค่าเงินรูเปียห์สามารถทรงตัวได้ BI อาจพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ BI มองว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียปี 2025 จะขยายตัวที่ 4.7-5.5% 

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น