Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 พฤษภาคม 2564

Econ Digest

แรงงานไทย รับผลโควิด-19 กว่า 2.7 ล้านคน

คะแนนเฉลี่ย

แรงงานเปราะบางยังสูง จากโควิดที่ยังไม่จบ และการพัฒนาทักษะที่ตอบโจทย์อนาคต

• จำนวนแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิดที่ระบาดหลายรอบ น่าจะมีแนวโน้มทรงตัวถึงเพิ่มขึ้นจากปี 2563
• การพัฒนาทักษะและผลิตภาพแรงงาน เป็นหนึ่งในภารกิจที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันขับเคลื่อน สำหรับแรงงานนั้น จำเป็นต้องเร่งปรับตัว ทั้งเพื่อรับมือกับโควิด และความต้องการทักษะที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต

แรงงานเปราะบางปี 2564 มีโอกาสทรงตัวสูงกว่า 2.7 ล้านคน หรือ 6.9% ต่อกำลังแรงงานในปี 2563

      กว่า 1 ปีของการระบาดโควิด-19 ที่จนถึงปัจจุบันวิกฤตนี้ก็ยังไม่ยุติลง และมีแนวโน้มจะสร้างผลกระทบที่ยืดเยื้อยาวนานสำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยที่การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ด้วยการฉีดวัคซีนให้กับประชากร 70% ขึ้นไปของประชากรทั้งประเทศอาจมีความเสี่ยงว่าจะเกิดขึ้นไม่ทันภายในช่วงปี 2564 นี้ ถึงแม้ภาครัฐมีแผนจะจัดหาวัคซีนไว้แล้วมากกว่า 63 ล้านโดสก็ตาม เพราะแม้ว่าเราอาจจะสามารถควบคุมการระบาดของโควิดในรอบเดือนเมษายนนี้ให้คลี่คลายได้ก่อนเข้าสู่จังหวะการเปิดประเทศในจังหวัดท่องเที่ยวเป้าหมายตามแผนที่วางไว้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 (ทั้งการไม่กักตัว/ลดวันกักตัวลง) แต่ก็มีความเป็นไปได้ในกรณีเลวร้ายที่อาจมีเหตุการณ์ที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นคือการระบาดรอบถัดไปหรือคลัสเตอร์ใหม่ๆ ได้อีก
      ภาพดังกล่าว ย่อมกดดันเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจและครัวเรือน ให้มีความเปราะบางมากขึ้นผ่านจังหวะการฟื้นตัวที่สะดุดลงและเลื่อนเวลาออกไปจากที่เคยหวังกันไว้ก่อนเกิดระลอกปลายเดือนธันวาคม 2563 และเมษายน 2564 ซึ่งถ้าย้อนไปดูผลกระทบต่อแรงงานจากสถิติล่าสุด พบว่า โควิดรอบแรก ทำให้มีผู้ว่างงานเร่งจำนวนขึ้นมาอยู่ที่ 5.9 แสนคน ณ ธันวาคม 2563 คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.5% ต่อกำลังแรงงานทั้งหมด (เทียบกับ 0.96% ณ ธันวาคม 2562) ขณะที่ หากนับรวมผู้เสมือนว่างงานหรือผู้ที่มีจำนวนชั่วโมงการทำงานน้อย อีกราว 2.1 ล้านคน หรือ 5.4% ต่อกำลังแรงงาน โดยแบ่งเป็น ภาคเกษตรราว 1.3 ล้านคน และภาคนอกเกษตร 0.8 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นการผลิต ขายส่งขายปลีก ที่พักแรม เป็นต้น

กล่าวได้ว่า แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิดรอบแรกและมีความเปราะบางด้านรายได้ อาจมีมากถึง 2.7 ล้านคน หรือ 6.9% เลยทีเดียว
      หากต่อภาพมาถึงในปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จำนวนแรงงานเปราะบางที่วัดจากผู้ว่างงานและผู้เสมือนว่างงานจะยังทรงตัวหรือขยับเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากจังหวะเวลาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและรายได้ของภาคธุรกิจที่ถูกเลื่อนออกไป ในขณะที่แต่ละกิจการได้พยายามลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพมาอย่างเต็มที่ก่อนหน้านี้แล้ว ดังนั้น ความเสี่ยงที่ธุรกิจจะลดแรงงานหรือไม่จ้างงานใหม่เพิ่ม น่าจะมีมากกว่าธุรกิจที่จะรับแรงงานใหม่ ประกอบกับจะยังมีนักศึกษาจบใหม่ที่ทยอยเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกด้วย นั่นหมายความว่า ตลาดแรงงานโดยรวมจะยังอยู่ภายใต้แรงกดดัน โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบนอกภาคเกษตรในสาขาการค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวที่มีจำนวน 6.9 ล้านคน หรือคิดเป็น 17.5% ต่อกำลังแรงงาน ซึ่งก่อนเกิดการระบาดโควิดรอบเดือนเมษายน 2564 แรงงานนอกระบบที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวกลุ่มนี้ที่ครอบคลุมถึงตลาดนัด ร้านนวดและสปา แท็กซี่และจักรยานยนต์รับจ้าง รวมถึงหาบเร่แผงลอย ก็มีรายได้ที่ลดลงมาเหลือเพียง 10-50% ของรายได้ก่อนโควิดแล้ว
      ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อพิจารณาถึงความคืบหน้าของโครงการ”เราชนะ”ของภาครัฐ ที่มีจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์มากถึง 32.8 ล้านคน ก็สะท้อนได้เช่นกันว่า ผู้ที่มีความเปราะบางจากผลกระทบของโควิดมีอยู่เป็นจำนวนมากถึงเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ ขณะที่ การระบาดรอบเดือนเมษายนและความเสี่ยงที่อาจมีการระบาดรอบถัดไปอีก จึงยากจะหลีกเลี่ยงที่ภาครัฐคงจำเป็นต้องมีมาตรการให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง

การเร่งพัฒนาทักษะและผลิตภาพแรงงาน … หนึ่งในภารกิจที่ทุกฝ่ายต้องร่วมขับเคลื่อน


      นอกเหนือจากมาตรการบรรเทาค่าครองชีพให้กับผู้เปราะบางในการรับมือกับโจทย์เฉพาะหน้าเรื่องโควิดแล้ว ภาครัฐและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงต้องวางแนวทางความช่วยเหลือในการพัฒนาทักษะและผลิตภาพแรงงานแบบคู่ขนานกันไปเพื่อรองรับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงวิถีการประกอบธุรกิจในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลที่รวดเร็วและซับซ้อนขึ้น โดยจำเป็นต้องพิจารณาองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ ซึ่งครอบคลุมไปถึงระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย เพื่อออกแบบมาตรการที่อุดช่องว่างหรือเติมเต็มให้แรงงานสามารถพัฒนาทักษะตนเองและยกระดับประสิทธิภาพการทำงานให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องสอดรับไปกับการวางเป้าหมายในอนาคตของประเทศในการเป็นฮับในด้านต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าหนีไม่พ้นที่จะต้องทำให้ผลิตภาพแรงงานไทยแข่งขันได้กับประเทศเพื่อนบ้านด้วย นับว่าเป็นความท้าทายพอสมควร เพราะก่อนโควิดผลิตภาพแรงงานของไทยก็เริ่มลดลงแล้ว แม้จะยังสูงกว่ากลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง-สูงก็ตาม
      สำหรับแรงงานนั้น จำเป็นอย่างยิ่งเช่นกันที่จะต้องเร่งปรับตัว ทั้งการรู้ลึกรู้จริงในสาขาที่เชี่ยวชาญ และรู้รอบรู้กว้างในสาขาอื่นๆ อีกทั้งยังต้อง Upskill / Reskill ให้มีทักษะที่จำเป็นที่เป็นที่ต้องการสำหรับภาคธุรกิจแห่งอนาคต ที่สำคัญก็คือ ทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์ ทักษะด้านภาษา ความยืดหยุ่นในการปรับตัว เป็นต้น ตลอดจนคงต้องสร้างอุปนิสัยรักการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ซึ่งจะทำให้แรงงานมีความสามารถในการรับมือกับวิกฤตต่างๆ ที่จะเข้ามาอีกในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
หมายเหตุ:  ขอบคุณข้อมูล สำนักงานสถิติแห่งชาติ
                   โดยเป็นข้อมูล ณ ธ.ค.63 โดยยังไม่ได้รวมผลกระทบจากโควิดในปี 2564 อย่างเต็มที่




Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest