Display mode (Doesn't show in master page preview)

14 พฤษภาคม 2564

Econ Digest

ภาวะฝืดเคือง...ผ่อนรถไม่ไหว ประคองหนี้อย่างไรดี?

คะแนนเฉลี่ย

​​​กู้ซื้อรถอาจไม่ยาก แต่ต้องมีวินัยในการชำระหนี้สูง โดยเฉพาะในยุคโควิด 19 ที่อาจทำร้ายกระเป๋าเงินของเราอย่างหนักจากรายได้ที่ถดถอย ซึ่งถ้าประสบปัญหารายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย ขอให้เร่งติดต่อเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าซื้อโดยเร็วที่สุดเพื่อขอรับความช่วยเหลือเฉพาะหน้าและรักษาประวัติทางการเงินที่ดี      

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ลูกหนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนที่จะขอรับความช่วยเหลือจากเจ้าหนี้ตามแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของธปท. คือ การเข้ามาตรการฯ ไม่ได้ช่วยให้ยอดหนี้รวมของเราลดลง แต่จะช่วยแบ่งเบาภาระของลูกหนี้ได้บางส่วนในระยะนี้ นอกจากนี้เงื่อนไขสำคัญของการขอเข้าโครงการผ่อนผันการชำระหนี้เช่าซื้อรถ คือ จะต้องยังไม่เป็นลูกหนี้ NPL โดยแนวทางให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่เช่าซื้อรถ ซึ่งเปิดให้ยื่นได้ถึง 30 มิ.ย. 2564 นี้ มี 2 ทางเลือกด้วยกัน คือ (1) พักค่างวด 3 เดือน และ (2) ลดค่างวด-ขยายเวลา เพื่อช่วยให้ยอดผ่อนต่อเดือนมีความเหมาะสมกับกำลังความสามารถในการผ่อนหนี้ของลูกหนี้มากขึ้น

ดังนั้น ถ้าเรามีหนี้เช่าซื้อรถและยังต้องการเป็นเจ้าของรถอยู่ จำเป็นที่ต้องตระหนักถึงความสำคัญของการประคองสถานะหนี้ไม่ให้ตกชั้นเป็น NPL แม้ในสถานการณ์วิกฤติโควิด 19 โดยเร่งเจรจากับเจ้าหนี้ทันทีที่มีสัญญาณว่าอาจจะผ่อนค่างวดไม่ไหว เพื่อขอผ่อนผันการส่งค่างวดที่ตอบโจทย์รายได้และความสามารถในการชำระหนี้ภายใต้เงื่อนไขใหม่ อย่างไรก็ดี การผ่อนผันนี้เป็นการยืดระยะเวลาการชำระหนี้ตามสัญญาออกไป โดยที่ภาระหนี้รวมไม่ลดลงแต่ยังเพิ่มขึ้นตามดอกเบี้ยของค่างวดที่ยืดการจ่ายออกไป

ถ้าเราเป็น NPL หรือค้างค่างวด 3 งวดติดกันแล้ว ยังมีโอกาสขอรับความช่วยเหลือ แต่..น้อยกว่ากรณีแรก ก่อนอื่นขอแนะนำให้นับจำนวนวันที่ค้างชำระรวมตั้งแต่งวดแรกโดยด่วน และเร่งติดต่อเจ้าหนี้ก่อนถึงวันที่ 91 วัน (ตัวอย่างใบแจ้งหนี้ค่างวดทุกวันที่ 5 ถ้าไม่จ่าย 5 ม.ค., 5 ก.พ. และ 5 มี.ค. จนถึงวันที่ 5 มี.ค. เราค้างชำระ 3 งวดก็จริง แต่นับวันได้ 60 วัน) ระหว่างนี้ให้หมั่นสำรวจด้วยว่าได้รับจดหมายติดตามทวงถามหนี้หรือยัง (หลัง 5 มี.ค. เจ้าหนี้จะส่งจดหมายติดตามเพื่อแจ้งลูกหนี้ล่วงหน้า 30 วันก่อนยึดรถ) ซึ่งระยะเวลารอคอย 30 วันนี้ เป็นช่วงที่ควรสำรวจใจตัวเองว่า

  • จะปล่อยให้รถถูกยึด => ถ้าขายทอดตลาดได้ราคาดีกว่ามูลหนี้ที่ค้าง เราได้เงินคืนตามส่วน

                                    => แต่ถ้าขายได้ต่ำกว่ามูลหนี้ เรายังต้องจ่ายชดเชยส่วนต่างราคา*

         *ทั้งนี้ ถ้าส่วนที่ขาดไม่สูงเกิน 3-4 หมื่นบาท เจ้าหนี้อาจยกประโยชน์ให้เพราะไม่คุ้มค่าฟ้อง แต่ถ้าส่วนต่างสูง เราต้องจ่ายตามมูลค่าที่ศาลตัดสิน

    หรือ
  • จะพยายามรักษารถไว้ ​    => ต้องเจรจากับเจ้าหนี้และจ่ายหนี้เพื่อเลี่ยงการกลายเป็นลูกหนี้ NPL ก่อน จึงจะสามารถขอรับความช่วยเหลือได้ แต่ไม่สามารถเลือกข้อ1 หรือพักค่างวดได้อีกต่อไป ทำได้เพียงการขอลดค่างวด-ขยายระยะเวลาคืนหนี้เท่านั้น

มีข่าวดีจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่เตรียมหารือกับผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อในการเปิดช่องทางช่วยเหลือลูกหนี้เช่าซื้อรถ ในลักษณะที่คล้ายคลึงกับ “มาตรการไกล่เกลี่ยหนี้บัตรและสินเชื่อส่​วนบุคคล" โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อทั้งที่เป็นธนาคาร บริษัทลูกของธนาคาร และบริษัทลีสซิ่ง รวมถึงอาจมีการขยายระยะเวลาการขอรับความช่วยเหลือออกไปในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ด้วย จากเดิมที่จะสิ้นสุ​ดภายใน 30 มิ.ย. 2564 อย่างไรก็ดี แนวทางให้ความช่วยเหลือยังคงเป็นไปตามหลักการเดิม คือ สถานะลูกหนี้ไม่เป็น NPL และสามารถเลือกได้ว่าจะขอพักหนี้ หรือขอลดค่างวด

-> พึงตระหนักถึงมูลค่ารถที่มีแต่จะลดลงตามระยะเวลาและความเสื่อมสภาพ ประกอบกับค่าใช้จ่ายจากการใช้รถและการบำรุงรักษาต่อปีอีกไม่น้อย จึงควรพิจารณาถึงความจำเป็นในการซื้อรถ และความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้การมีรถกลายเป็นภาระที่สร้างปัญหาการเงินตามมาได้ โดยก่อนซื้อรถ ควรมีเงินออมเพื่อเป็นเงินดาวน์รถยิ่งสูงถึง 20-25% ยิ่งดี เพราะจะมีผลต่อดอกเบี้ยที่ต่ำลง ค่างวดและระยะเวลาผ่อนที่สมเหตุผล ทำให้สามารถปลดหนี้ได้เร็วมากขึ้น ขณะที่ถ้าเราติดกับดักจ่ายน้อย อาจต้องแลกมาด้วยการจ่ายแพงและจ่ายนาน  ​

ขอบคุณข้อมูล คุณธีรชาติ จิรจรัสพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด  ​

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest