Display mode (Doesn't show in master page preview)

4 พฤษภาคม 2564

Econ Digest

การประชุม 5 พ.ค. 64 คาด... กนง. คงดอกเบี้ยฯ 0.5%

คะแนนเฉลี่ย

      ​ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 5 พ.ค. นี้ กนง. จะพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ยังคงรุนแรง จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 อาจล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้สถานการณ์ในขณะนี้มีความเสี่ยงสูง กระทบไปยังความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมถึงความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้ความหวังของการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ให้ทยอยกลับมาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย อาจต้องล่าช้าออกไป ดังนั้น ความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการประสานนโยบายทางการเงินและทางการคลังจึงมีความสำคัญ

      ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า กนง. คงมุ่งเน้นการใช้มาตรการที่ตรงกลุ่มเป้าหมายและสอดคล้องกับปัญหา มากกว่าการใช้นโยบายทั่วไปอย่างการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งมาตรการทางการเงินและการคลังที่ออกมา จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และประคับประคองเศรษฐกิจไทย ให้สามารถฟื้นตัวได้ในระดับหนึ่ง โดยล่าสุด ธปท. ได้มีการออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ ภายใต้วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ผู้ประกอบธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในขณะที่ทางการคลัง ได้มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะมีการออกมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจเพิ่มเติม ภายใต้วงเงินกู้ 1 ล้านล้านและภายใต้งบกลางของ พรบ. งบประมาณปี 2564 ซึ่งมีวงเงินคงเหลือรวมกันอยู่ราว 3 แสนล้านบาท

      อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์มีทิศทางไปในเชิงลบมากขึ้น กนง. คงพร้อมที่จะใช้เครื่องมือนโยบายทางการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติม ทั้งนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทย รวมถึงในต่างประเทศยังคงมีความเสี่ยงสูง จากการกลายพันธุ์ของไวรัส และการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในหลายประเทศ แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ จะเริ่มดีขึ้น ดังนั้น กนง. คงจะต้องคอยติดตามสถานการณ์ และประเมินความเสี่ยงด้านต่างๆ  ซึ่ง กนง. น่าจะยังคงให้น้ำหนัก กับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ แต่ถ้าหากสถานการณ์การแพร่ระบาดลากยาวออกไป จนส่งผลกระทบอย่างมากต่อการบริโภค การท่องเที่ยว รวมถึงตลาดแรงงานที่ยังมีความเปราะบางอยู่ คาดว่า กนง. อาจพิจารณาออกมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม และยังคงมีความเป็นไปได้ที่ กนง. อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest