Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 กุมภาพันธ์ 2564

Econ Digest

ต่ออายุมาตรการ ลดค่าธรรมเนียมการซื้อที่อยู่อาศัย “ลดภาระ...ผู้ซื้อ แบ่งเบาภาระ...ผู้ขาย”

คะแนนเฉลี่ย
​เริ่มต้นปี 2564 ตลาดที่อยู่อาศัยต้องกลับมาเผชิญกับความท้าทายอีกรอบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ต่ออายุมาตรการลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมการซื้อที่อยู่อาศัย ได้แก่ การลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจากเดิม 2.0% เป็น 0.01% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ และการลดค่าธรรมเนียมการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยจากเดิม 1.0% เป็น 0.01% ของมูลค่าจดจำนอง โดยเป็นการซื้อจากผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย สำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564 

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวนับเป็นข่าวดี โดยจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ซื้อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะประชาชนผู้มีรายได้ปานกลางลงไปที่มีแผนจะซื้อที่อยู่อาศัยในปีนี้ ซึ่งถือเป็นกลุ่ม mass market ขณะเดียวกัน ยังช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนในการทำตลาดของผู้ประกอบเพื่อเร่งระบายที่อยู่อาศัยรอขายสะสมที่ยังอยู่ระดับสูง โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมและทาวน์เฮ้าส์ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเหลือขายรวมกันสูงถึง 57% จากจำนวนหน่วยเหลือขายทั้งหมด ทั้งนี้ จากผลสำรวจของ บริษัทเอเจนซี่ ฟอร์เรียลเอสเตท พบว่า ณ สิ้นปี 2563 ที่อยู่อาศัยรอขายสะสมในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลมีจำนวนสูงถึง 226,645 หน่วย 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าแม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะเข้ามาช่วยสร้างบรรยากาศเชิงบวกต่อตลาดที่อยู่อาศัย แต่ความท้าทายรอบด้านที่ยังมีผลต่อเนื่องและปัจจัยแวดล้อมที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ภาคธุรกิจต้องระมัดระวังการลงทุนโดยเฉพาะในพื้นที่ที่ยังคงมีความหนาแน่นของหน่วยเหลือขายในระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท อาทิ ลำลูกกา รังสิตคลอง 1-7 และบางนา-ตราด ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับลดคาดการณ์ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลปี 2564 ลงเหลือ 1.82-1.85 แสนหน่วย หรือหดตัว 3.1% ถึงหดตัว 4.7% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพ  



Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest