Display mode (Doesn't show in master page preview)

8 กันยายน 2564

Econ Digest

ตลาดโปรตีนทางเลือก ผู้บริโภค 83% เต็มใจจ่ายเพิ่มไม่เกิน 10% สำหรับสินค้าโปรตีนทางเลือกเทียบกับผลิตภัณฑ์เดียวกันจากสัตว์

คะแนนเฉลี่ย

กระแสบริโภคโปรตีนทางเลือกเติบโตโดดเด่นใน 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยสินค้าโปรตีนทางเลือกดั้งเดิมจะอยู่ในกลุ่มโปรตีนเกษตร นมถั่วเหลือง ซึ่งผลิตโดยกระบวนการที่ไม่ซับซ้อนมาก แต่ปัจจุบันสินค้าโปรตีนทางเลือกในกลุ่มนวัตกรรมอาหารใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและซับซ้อนได้ถูกผลิตโดยผู้ประกอบการไทยมากขึ้น แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจและกำลังซื้อเปราะบางจากโควิด-19 กอปรกับความหลากหลายของอาหารที่มีให้เลือกเยอะและอาจทดแทนกันได้ จึงมีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารกลุ่มโปรตีนทางเลือกซึ่งปัจจุบันมีราคาเฉลี่ยสูงกว่าโดยเปรียบเทียบ ซึ่งจากผลสำรวจ 83% ของกลุ่มตัวอย่าง เต็มใจจ่ายให้กับสินค้าในกลุ่มโปรตีนทางเลือกที่ระดับราคามากกว่าผลิตภัณฑ์เดียวกันที่มาจากจากสัตว์ไม่เกิน 10% 
 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดปี 2564 ตลาดโปรตีนทางเลือกจากนวัตกรรมอาหารใหม่ในไทยจะมีมูลค่าราว 4,500 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 12% ของตลาดโปรตีนทางเลือกทั้งหมดในไทย และคาดว่าปี 2567 มูลค่าตลาดโปรตีนทางเลือกจากนวัตกรรมใหม่มีโอกาสขยับสู่ 5,670 ล้านบาท (CAGR 2564-2567: 8% ต่อปี) โดยปัจจุบันโปรตีนทางเลือกจากนวัตกรรมใหม่ในไทยกว่า 89% ของมูลค่าตลาดรวมอยู่ในกลุ่มอาหาร อีก 11% อยู่ในกลุ่มเครื่องดื่ม ซึ่งมูลค่าตลาดโปรตีนทางเลือกนับว่ายังมีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดอาหารและเครื่องดื่มโปรตีนทั้งหมดในไทย จึงยังมีช่องว่างทางการตลาดอีกมาก ทั้งนี้ การขับเคลื่อนตลาดโปรตีนทางเลือกกลุ่มนวัตกรรมใหม่มาจากผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นหลัก จากความได้เปรียบเรื่องศักยภาพการผลิตและช่องทางการจำหน่าย ซึ่งหาก SMEs จะแข่งขัน นอกจากเรื่องรสชาติแล้ว ยังต้องสร้างความแตกต่างด้านวัตถุดิบ การตลาดและราคาที่แข่งขันได้ 
 
มองไปข้างหน้า ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพอาจมองหาตลาดส่งออกเพื่อขยายตลาด และอาจมีโอกาสเติบโตเร็วกว่าตลาดในประเทศ เช่น ผลิตภัณฑ์โปรตีนจากแมลง ซึ่งปัจจุบันได้รับการส่งเสริมการเลี้ยงเชิงพาณิชย์จากภาครัฐ อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยเป็นสินค้านวัตกรรมอาหารใหม่ ผู้ประกอบการจึงต้องศึกษาถึงกฎระเบียบและมาตรการทางการค้าของคู่ค้าแต่ละประเทศอย่างรอบคอบ


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest