Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 มกราคม 2565

Econ Digest

1 ม.ค. 2565 เปิดเสรี RCEP สร้างบรรยากาศการค้า หนุนการลงทุนภูมิภาค

คะแนนเฉลี่ย

​RCEP เริ่มเปิดเสรี 1 ม.ค. 2565 ช่วยให้การค้าระหว่างชาติสมาชิกสะดวกขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในเชิงการค้า ประโยชน์ส่วนเพิ่มจากการลดภาษีนั้น ส่งผลบวกต่อไทยค่อนข้างจำกัดเพราะสินค้าส่วนใหญ่ได้เปิดเสรีไปแล้วตามความตกลง FTA อาเซียนกับคู่ภาคี Plus 5 ดังนั้น ผลบวกทางตรงที่ชัดเจนจะอยู่ที่การส่งออกไปจีนและเกาหลีใต้ และเป็นสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรมบางรายการที่ไทยส่งออกไม่มาก สำหรับญี่ปุ่น สินค้าอาหารทะเลสดบางรายการและหนังดิบจะได้รับอัตราภาษีต่ำลงจากความตกลง RCEP ขณะที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ไม่ต่างจากเดิม สำหรับผลบวกทางอ้อมอยู่ในกลุ่มสินค้าที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดิมที่ส่งออกไปยัง Plus 5 อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

 

RCEP เป็น FTA ที่มีความพร้อมด้านการผลิตครบวงจร มีประเทศผู้ผลิตสินค้าต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เป็นครั้งแรกที่ประเทศเจ้าของเทคโนโลยีการผลิตฝั่งเอเชียอย่างจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีเข้ามาอยู่ร่วมใน FTA เดียวกัน ช่วยให้ไทยเกาะติดไปกับห่วงโซ่การผลิตโลกในฝั่งเอเชีย และการมี ROOs ที่ครอบคลุมทั้ง 15 ประเทศทำให้การลงทุนในภูมิภาคมีความน่าสนใจมากขึ้น สำหรับไทย RCEP ช่วยให้ไทยมีโอกาสได้เม็ดเงินลงทุนในอนาคตต่อยอดการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีดั้งเดิมอย่าง HDDs IC การประกอบวงจรพิมพ์ และยานยนต์ แต่ไทยก็ต้องเผชิญการแข่งขันเพื่อดึงดูด FDI กลุ่มใหม่กับคู่แข่ง โดยเฉพาะการลงทุนในเทคโนโลยีที่เป็นหัวใจหลักที่จะยกระดับโครงสร้างการผลิตของไทยสู่อุตสาหกรรม S-Curve อาทิ การผลิตเซนเซอร์อัจฉริยะ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขนาดนาโน ชิปประมวลผลในสินค้าและ IOT


สำหรับการแข่งขันเพื่อดึงดูด FDI ระหว่างไทยกับประเทศอาเซียน ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน อาทิ 1) ทำ FTA เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าการลงทุน โดยเฉพาะกรอบการค้าที่คู่แข่งมีแต่ไทยไม่มี เช่น CPTPP และ FTA กับ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และอังกฤษ 2) สร้างบรรยากาศการลงทุนที่ช่วยให้ธุรกิจมีความคล่องตัว พร้อมรับมือการเปลี่ยนผ่านของกระแสเทคโนโลยี 3) เตรียมความพร้อมรองรับกระแสการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG 4) มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม S-Curve

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest