Display mode (Doesn't show in master page preview)

29 ธันวาคม 2563

Econ Digest

ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ คนกรุงเทพฯ ปรับแผนเที่ยว

คะแนนเฉลี่ย

การระบาดระลอกใหม่ของโควิด 19 เป็นข่าวร้ายต่อภาคการท่องเที่ยวไทย ที่กำลังอยู่ในระยะของการเริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทางการจะออกมาตรการเพื่อควบคุมการระบาด แต่ยังไม่ได้มีข้อจำกัดห้ามเดินทางข้ามจังหวัด  จากการสำรวจของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า คนกรุงเทพฯ กว่า 54.8% ไม่มีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัด ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2564 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างประมาณ 30.9% ยังมีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวในต่างจังหวัด ซึ่งมีทั้งการเดินทางแบบพักค้างคืน และไปเช้า-เย็นกลับ อย่างไรก็ดี แผนการท่องเที่ยวยังต้องขึ้นอยู่กับ พัฒนาการการระบาดของโควิด 19 เนื่องจาก จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ มีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะมีผลต่อ การตัดสินใจท่องเที่ยวจริงของผู้ตอบแบบสอบถาม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การระบาดระลอกใหม่ของโควิด 19 จะทำให้เกิดการสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้ จากคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาว 4 วัน (ตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 63 ถึง 3 ม.ค. 64) คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,850  ล้านบาท หรือ คิดเป็นสัดส่วนรายได้ที่สูญเสียไปประมาณ 58.4% ของรายได้ไทยเที่ยวไทยในช่วงเวลาปกติ 4 วัน ที่ไม่ได้เกิดการระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ ซึ่งภาคการท่องเที่ยวคงจะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีข่าวการพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ขณะเดียวกัน พื้นที่ที่ไม่พบผู้ติดเชื้อหรือมีจำนวนผู้ติดเชื้อในอัตราที่ต่ำ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน 

ดังนั้น สิ่งสำคัญในช่วงเวลานี้ของผู้ประกอบการ คือ การประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร เกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ในพื้นที่ของตนเอง อย่างถูกต้องและต่อเนื่อง ผ่านช่องทางต่างๆ ของผู้ประกอบการ อาทิ เว็บไซต์ หรือ เครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของลูกค้า ป้องกันข่าวลืออันจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ อีกทั้ง ผู้ประกอบการ ยังต้องรักษามาตรฐานความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยว และ เตรียมแผนรองรับการปรับเปลี่ยนแผนการท่องเที่ยว รวมถึงมาตรการของภาครัฐที่อาจจะมีการปรับเปลี่ยน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ภายในช่วงระยะเวลา 1 เดือนต่อจากนี้ ภาพรวมของตลาดไทยเที่ยวไทย น่าจะทยอยกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 1 ของปี 2564

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest