Display mode (Doesn't show in master page preview)

16 พฤษภาคม 2566

Econ Digest

นวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมกับมาตรฐาน Do No Significant Harm เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนที่แท้จริง

คะแนนเฉลี่ย

        ในปัจจุบัน มีนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ออกมามากมาย แต่ในการเลือกใช้/ผลิต/ทำธุรกิจกับนวัตกรรมด้านหนึ่งด้านใด เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนที่แท้จริงนั้น อาจจำเป็นต้องใช้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมเป็นกรอบในการดำเนินการ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะกำหนดหลักการห้ามเกิดผลกระทบทางลบด้านสิ่งแวดล้อมอื่น (Do no significant harm: DNSH) ซึ่งมีการใช้เป็นเกณฑ์สำคัญในกรอบการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทั้งในภาครัฐและเอกชนในหลายประเทศ เช่น มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (EU taxonomy) รวมถึงประเทศไทยก็มีการนำหลักการ DNSH ใช้ในการกำหนดมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) ด้วย ทำให้ในการดำเนินธุรกิจต้องคำนึงถึงวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์และบริการ ว่าจะต้องไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มจนทำให้เกิดผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งไม่สร้างผลกระทบต่อผู้คน ธรรมชาติ และทรัพย์สินด้วย
        ทั้งนี้ ธุรกิจประเภทยานพาหนะไฟฟ้าเป็นสิ่งที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากถูกมองว่าเป็นการใช้พลังงานสะอาดที่ไม่มีมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังมีการแตกไลน์การให้บริการที่เกี่ยวข้องกับยานพาหนะไฟฟ้าโดยเพิ่มทางเลือกในการใช้พาหนะพลังงานไฟฟ้าของผู้บริโภคด้วยการให้เช่าสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งในปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในเขตเมืองที่มีการจราจรติดขัด เนื่องจากตอบโจทย์ในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์ความสะดวกสบายในการสัญจรในระยะทางใกล้ๆ เนื่องจากมีน้ำหนักเบา และประหยัดเวลาในการเดินทาง
        อย่างไรก็ตาม ทางเลือกดังกล่าว มีมุมที่ทำให้ขบคิดเพิ่มเติม ดังจะเห็นได้จากการลงประชามติ ‘ห้าม’ การให้เช่าสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเพื่อใช้งานบนถนนในกรุงปารีส เมื่อวันที่ 2 เมษายน ซึ่งมีผู้ลงประชามติกว่า 89% สนับสนุนให้แบนการให้เช่าสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าในกรุงปารีส ภายใน 1 กันยายน 2566 เนื่องจาก เป็นอันตรายต่อผู้คนเดินเท้า และตัวผู้ใช้งานเอง โดยในปี 2565 พบว่ามีจำนวนอุบัติเหตุจากสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 42% ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 3 คน ผู้บาดเจ็บ 459 คน
        นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาหลายชิ้นพบว่าธุรกิจเช่ารถสกู้ตเตอร์ไฟฟ้า ยังมีประเด็นที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่นอกเหนือจากประเด็นด้านผลกระทบต่อสังคมหรืออุบัติเหตุ ดังนี้

  • การผลิตก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม: กระบวนการผลิตสกู้ตเตอร์ไฟฟ้ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง จากการใช้พลังงานเป็นจำนวนมาก อีกทั้งการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจะใช้วัตถุดิบที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม
  • อายุการใช้งานต่ำ: การให้เช่าทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเสียหายสูง รวมถึงอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ต่ำ ทำให้ต้องเสียทรัพยากรเพื่อเปลี่ยนใหม่บ่อย โดยเฉพาะแบตเตอรี่ที่อาจต้องเปลี่ยนใหม่ทุกๆ 1-5 เดือน ซึ่งสร้างความเสี่ยงเพิ่มในประเด็นด้านการหมุนเวียนทรัพยากร การรีไซเคิล และการจัดการของเสียเพื่อให้ไม่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม
  • การปล่อย CO2 จากการให้บริการ: รูปแบบการเช่าสกู้ตเตอร์ไฟฟ้าที่อนุญาตให้คืนรถที่อื่นได้ ทำให้ผู้ให้บริการต้องดำเนินการขนส่งรถกลับมาสู่สถานีชาร์จเพื่อเริ่มให้บริการใหม่ หรือให้บริการในรูปแบบเดลิเวอรี่ ทำให้ในภาพรวมแล้วมีการสิ้นเปลืองพลังงานจากการใช้ยานพาหนะอื่นเพื่อการขนส่งรถสกู้ตเตอร์ไปกลับจุดหมายปลายทาง ซึ่งอาจมีการปล่อย CO2 ในกรณีที่ยานพาหนะดังกล่าวใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

        ดังนั้น เพื่อให้เข้าใกล้มาตรฐาน Do No Significant Harm มากขึ้น ผู้ผลิตและผู้ให้บริการ รวมถึงภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาจต้องวางแนวทางเพื่อดูแลปัญหากระบวนการผลิต ปัญหาแบตเตอรี่ รวมถึงรูปแบบการบริการที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งกรณีดังกล่าว ก็มีความคล้ายคลึงกับยานยนต์ประเภท EV ที่หากธุรกิจสามารถแสดงประเด็นความยั่งยืนของการดำเนินธุรกิจให้ครอบคลุมกระบวนการให้บริการ การกำจัดซากแบตเตอรี่ และการจัดการกระบวนการผลิตที่ต้องมีกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) และการรับรองด้านการรีไซเคิลและกำจัดสารพิษ เพื่อดูแลประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางอย่างมีประสิทธิภาพร่วมด้วย ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการปล่อยมลพิษในขั้นตอนอื่น เพื่อให้ได้สินค้าหรือบริการที่ลดการปล่อยมลพิษในทั้งวัฎจักร จึงจะเป็นทางเลือกที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest