Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 มีนาคม 2564

Econ Digest

เศรษฐกิจไทยปี 64 ผ่านพ้นช่วงที่ยากลำบากสุดแล้ว แต่...ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ธุรกิจอาจเผชิญต้นทุนสูงขึ้น

คะแนนเฉลี่ย

                  กว่า 1 ปีของวิกฤตโควิดที่สถานการณ์เริ่มมีความหวังจากความก้าวหน้าเรื่องวัคซีน ประกอบกับการดำเนินมาตรการผ่อนคลายต่างๆ ของทางการในแต่ละประเทศ ทำให้เป็นที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยได้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดมาแล้ว อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวกลับไปสู่จุดเดิมก่อนโควิดหรือจุดหมายใหม่ที่ดีกว่าเดิม ยังจำเป็นต้องใช้เวลา ยิ่งโดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่พึ่งพารายได้จากต่างประเทศอย่างการท่องเที่ยว คงจะใช้เวลานานกว่าธุรกิจอื่นกว่าที่รายได้จะฟื้นคืนกลับมา
                ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในด้านรายได้หรือยอดขายธุรกิจหลักต่างๆ ของไทยในปี 2564 นั้น ในบางธุรกิจแม้จะฟื้นตัวดีขึ้นจากปี 2563 ตามทิศทางเศรษฐกิจในภาพรวม เช่น ยอดขายค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค ยอดขายรถยนต์ การใช้จ่ายด้านโรงแรมที่พักและบริการร้านอาหาร ตามความต้องการของผู้บริโภค แต่การฟื้นตัวยังเป็นอัตราที่น้อย ขนาดหรือระดับก็จะยังไม่กลับไปเท่ากับ ณ ปี 2562 เพราะกำลังซื้อของชนชั้นกลางลงล่างยังเปราะบางอยู่มากจากความเสี่ยงด้านรายได้และการมีงานทำ นอกจากนี้ ในบางธุรกิจยังเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบากจากยอดขายที่อาจลดลงไปอีกในปี 2564 ได้แก่ ธุรกรรมการโอนที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เนื่องจากการชะลอการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคชาวไทยและชาวต่างชาติ หรือแม้กระทั่งรายได้การท่องเที่ยว ที่การเดินทางระหว่างประเทศยังมีข้อจำกัดอยู่มากแม้จะเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นก็ตาม นั่นหมายความว่า เส้นทางการฟื้นตัวของแต่ละธุรกิจยังเกิดขึ้นแบบไม่ทั่วถึง
                 ไม่เพียงโจทย์ด้านกำลังซื้อที่ฉุดยอดขาย การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมและวิถีการใช้ชีวิตไปสู่ภาวะปกติใหม่ (New Normal) ที่รวดเร็วและซับซ้อนขึ้น ก็นับเป็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการในแต่ละธุรกิจที่จำเป็นจะต้องเร่งปรับตัวให้เท่าทัน และหากมองต่อไปในช่วงข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์ด้านต้นทุนที่ไต่ระดับขึ้น อาจจะเข้ามาเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่ภาคธุรกิจจะต้องเตรียมการรับมือเพิ่มเติม 
                 นอกเหนือไปจากต้นทุนการดำเนินการด้านความสะอาดปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโควิดซึ่งยังจำเป็นต้องทำต่อเนื่องเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ที่เห็นชัดก็คือ 1) ค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ที่อาจขยับเร็วกว่าที่หลายฝ่ายคิด ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น โดยในปี 2564 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอาจอยู่ที่ 50-60 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล เพิ่มขึ้นกว่า 25% เทียบกับเฉลี่ยปี 2563 ที่ 42.2 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศขยับขึ้นประมาณ 9-10% และมีผลให้ต้นทุนภาคธุรกิจปรับขึ้นอีกราว 0.5%  ขณะที่ธุรกิจประมง ขนส่ง ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เหล็ก จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบสูงกว่าธุรกิจอื่นๆ 
                และ 2) ต้นทุนทางการเงิน โดยเฉพาะอัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรระยะยาวที่เร่งตัวขึ้นสอดคล้องกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ตามความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยตั้งแต่ต้นปีถึง 12 มีนาคม 2564 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทย 10 ปี ปรับขึ้นแล้ว 68 basis points ใกล้เคียงกับการเพิ่มขึ้น 71 basis points ของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ 10 ปี ดังนั้น ธุรกิจที่มีความจำเป็นจะต้องระดมทุนในช่วงข้างหน้า ทั้งเพื่อการจัดการหนี้ที่ครบกำหนดและการจัดเตรียมสภาพคล่องรองรับการดำเนินธุรกิจ คงจะต้องเผชิญสถานการณ์ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่สูงขึ้นแปรผันตามอันดับความน่าเชื่อถือหรือสถานะด้านเครดิตของแต่ละบริษัท ซึ่งจากหุ้นกู้ระยะยาวที่จะครบกำหนดในช่วงที่เหลือของปี 2564 กว่า 7 แสนล้านบาทนั้น หลักๆ แล้วจะอยู่ในกลุ่มธุรกิจการเงิน ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อาหาร พลังงาน ICT รวมกันมากกว่า 80% 
                  กล่าวโดยสรุป ปี 2564 นี้ จึงนับเป็นอีกปีที่ภาคธุรกิจคงจะต้องเผชิญความท้าทายทั้งด้านรายได้และต้นทุนอยู่อีกไม่น้อยเลย

















                                                                                                                                                 ขอบคุณภาพจาก  Shutterstock.com

​​

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest