Display mode (Doesn't show in master page preview)

12 ตุลาคม 2563

Econ Digest

ท่องเที่ยวโลก...ซึมยาว คาด...ฟื้นตัวปี 67

คะแนนเฉลี่ย

การระบาดของโควิด-19 ได้สร้างความสูญเสียให้แก่กิจกรรมเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวทั่วโลกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 จำนวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกหายไปแล้วกว่า 439 ล้านคน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเมื่อคิดเป็นมูลค่า การท่องเที่ยวทั่วโลกสูญเสียรายได้ไปแล้วน่าจะไม่ต่ำกว่า 600,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

             จากข้อมูลล่าสุดของ องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ หรือ UNWTO พบว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 นักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลกมีจำนวนเพียง 233 ล้านคน หรือหดตัวลงกว่า 65% (YoY) และในช่วงเดือนเม.ย.-มิ.ย. 63 นักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวทั่วโลกเหลือเพียง 18 ล้านคน หดตัวกว่า 95% (YoY) เนื่องจากการปิดน่านฟ้าและพรมแดนระหว่างประเทศในหลายประเทศ

            สำหรับทิศทางการเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลกในช่วงที่เหลือของปี 2563 ต่อเนื่องจนถึงครึ่งแรกของปี 2564 ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ในหลายประเทศยังไม่ดีขึ้น และแม้ว่าขณะนี้หลายประเทศจะได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศของชาวต่างชาติและมีหลายประเทศที่อยู่ระหว่างการพิจารณาเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อช่วยให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในภาคธุรกิจการท่องเที่ยวที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดย ณ วันที่ 1 กันยายน 2563 ประเทศที่มีการผ่อนปรนมาตรการการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศมีประมาณ 115 ประเทศและเขตปกครองพิเศษ ส่วนใหญ่เป็นประเทศในภูมิภาคยุโรป อย่างไรก็ดี การผ่อนคลายการเดินทางระหว่างประเทศยังเป็นการเปิดแบบมีเงื่อนไข เช่น การกำหนดประเทศต้นทางและการกักตัวในสถานที่พักเป็นเวลา 7-14 วัน ขณะที่บางประเทศที่มีการทำสัญญาการท่องเที่ยวกับเฉพาะบางประเทศที่มีการจัดการบริหารโรคได้ดีสามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัว แต่ก็ยังต้องปฏิบัติตามตามเงื่อนไขอื่นๆ ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศยังมีจำนวนน้อย เช่น นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางท่องเที่ยวที่สเปนในเดือนก.ค. 63 มีจำนวน 2 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิ.ย. 63 ที่มีจำนวน 1.3 แสนคน แต่เนื่องจากสเปนมีการพบการติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นอาจส่งผลต่อความต่อเนื่องในการฟื้นตัว

            นอกจากนี้ มาตรการผ่อนปรนต่างๆ ยังมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์การระบาดของโรคในประเทศต่างๆ โดยที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรมีการยกเลิกมาตรการไม่ต้องกักตัวสำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากสเปน ฝรั่งเศส และเบลเยี่ยม เป็นต้น ขณะที่ประเทศที่เคยมีการทำ Travel Bubble ไปก่อนหน้า เช่น ในกลุ่มประเทศ Baltic ระหว่างประเทศลัตเวีย-ลิทัวเนีย-เอสโตเนีย โดยลัตเวียได้ปรับกฎเกณฑ์สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากเอสโตเนียต้องมีการกักตัว 14 วัน เนื่องจากพบว่าเอสโตเนียมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศยังมีความไม่แน่นอนสูง

            จากสถานการณ์ดังกล่าว คาดว่าการท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลกในปี 2563 น่าจะหดตัวประมาณ 77.7% จากปีก่อน หรือมีจำนวนเพียงประมาณ 324 ล้านคน จาก 1.45 พันล้านคนในปี 2562 ขณะที่รายได้การท่องเที่ยวโลกคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 320,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จาก 1.48  ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2562 โดยการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศส่วนใหญ่น่าจะเป็นการเดินทางระหว่างประเทศในภูมิภาคยุโรป ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศมากที่สุด ขณะที่ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งเป็นตลาดท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่มีขนาดใหญ่อันดับสองรองจากภูมิภาคยุโรป และในช่วงปลายปีของทุกปี ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากหลายๆประเทศ แม้หลายประเทศในภูมิภาค เช่น ไทย จีน นิวซีแลนด์ จะสามารถควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดี แต่ประเทศเหล่านี้ยังคงมีความระมัดระวังในการเปิดรับชาวต่างชาติ ทำให้กิจกรรมการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้น่าจะยังจำกัดอยู่มาก

ทิศทางการท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลกการฟื้นตัวในระดับที่เข้าสู่ภาวะก่อนการระบาดของโควิด-19 น่าจะเกิดขึ้นได้ในปี 2567 สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนกลับมายังทิศทางการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดโลก โดยทางการไทยยังระมัดระวังในการผ่อนคลายมาตรการให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งหากมองไปข้างหน้ากลุ่มนักท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวก่อนจะเป็นเดินทางเพื่อการพักผ่อนในกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับกลาง-บน เนื่องจากการเดินทางในช่วงนี้มีค่าใช้จ่ายที่สูง สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไปและกลุ่มไมซ์อาจจะยังต้องใช้เวลาอีกสักพัก




Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest