Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 กันยายน 2567

Econ Digest

ปี 2024 คาดไทยขาดดุลการค้าต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 จากปัญหาเชิงโครงสร้าง

คะแนนเฉลี่ย

        ไทยเผชิญการขาดดุลการค้า (ตามฐานศุลกากร) 2 ปี ติดต่อกันในปี 2022-2023 (รูปที่ 1) โดยปัจจัยหลักมาจากการนำเข้าพลังงานที่เพิ่มขึ้นตามราคาในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น ขณะที่การส่งออกไทยหดตัวในปี 2023 (รูปที่ 2) โดยในปี 2011-2013 ไทยเคยเผชิญกับการขาดดุลการค้าติดต่อกัน ซึ่งขณะนั้นราคาน้ำมันดิบอยู่สูงกว่า 100 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล

        ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในปี 2024 ไทยจะยังเผชิญการขาดดุลการค้าเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน โดย 7 เดือนแรกของปีนี้ไทยขาดดุลไปแล้ว -6,616 ล้านดอลลาร์ฯ (-23%YoY) จากปัจจัยต่อไปนี้

1.    ไทยเป็นผู้นำเข้าพลังงานสุทธิ โดยไทยจะขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นราว 4,000 ล้านดอลลาร์ฯ  หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้นทุก 10 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ สำหรับปี 2024 ไทยยังขาดดุลการค้าเนื่องจากราคาพลังงานยังอยู่ในระดับสูงแม้ได้ปรับลงจากปี 2022 ที่ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนเริ่มขึ้น (รูปที่ 3)

2.    ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง เมื่อพิจารณาสินค้าที่มีดุลการค้ามากที่สุด 10 อันดับแรก  ในปี 2023 พบว่า สินค้าสำคัญหลายตัวมีแนวโน้มที่จะได้ดุลการค้าลดลง (รูปที่ 4) เนื่องจาก

  • ความต้องการสินค้าไทยในตลาดโลกลดลง เนื่องจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ Hard Disk Drive ที่ในอนาคตจะมีการเข้ามาแทนที่ของ Solid State Drive ซึ่งไทยไม่ได้เป็นฐานการผลิต นอกจากนี้ ความต้องการใช้รถยนต์สันดาปซึ่งไทยเป็นฐานการผลิตนั้นลดลง โดยตลาดมีความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดมากขึ้น
  • การแข่งขันที่เพิ่มขึ้น โดยไทยมีการส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าและความซับซ้อนไม่มากนักอย่างสินค้าเกษตรที่กำลังเผชิญกับการแข่งขันด้านราคา ประกอบกับการพัฒนาคุณภาพสินค้าของประเทศคู่แข่ง อาทิ ข้าว ทุเรียน และยางพารา ที่มีตลาดอื่นเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาด

3.    ทิศทางการค้าโลกที่เปลี่ยนไปนับตั้งแต่หลังสงครามการค้าในปี 2018 (รูปที่ 5)

  • ไทยมีแนวโน้มที่จะขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มขึ้น จากการนำเข้าเครื่องจักรและสินค้าทุนจากจีนที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูกจากจีนก็เพิ่มขึ้น อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า และของเบ็ดเตล็ด ขณะที่การส่งออกสินค้าขั้นกลางไปจีนลดลงอย่างเช่นเม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ เนื่องจากจีนสามารถผลิตได้เองจากข้อได้เปรียบด้านต้นทุน (Economy of scale) นอกจากนี้ สินค้าเกษตรซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกจากไทยไปจีนสูง อาทิ ทุเรียน ผลผลิตเผชิญความผันผวนจากสภาพอากาศ
  • ดุลการค้ากับสหรัฐฯ มีแนวโน้มเกินดุลเพิ่มขึ้นแต่ไม่สามารถชดเชยกับปริมาณการขาดดุลการค้ากับจีน โดยไทยได้อานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน แต่มีความเสี่ยงจากมาตรการภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุน (AD/CVD) อาทิ โซลาร์เซลล์ และยางล้อ ซึ่งกดดันการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ขณะที่การดึงดูดเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ ของไทยยังมีจำกัด
  • นอกจากนี้ การได้ดุลการค้ากับประเทศคู่ค้าหลักอื่นๆ มีแนวโน้มชะลอลง จากการเข้ามาตีตลาดของสินค้าจีนในประเทศคู่ค้าของไทยมากขึ้น ได้แก่ กลุ่มประเทศอาเซียน ออสเตรเลีย รวมถึงการที่ไทยนำเข้าสินค้าจากประเทศในอาเซียนเพิ่มขึ้น อาทิ เวียดนาม เนื่องจากเป็นฐานการผลิตที่มีความสำคัญมากขึ้น (รูปที่ 6)

        โดยสรุป การขาดดุลการค้าไทยยังมีแนวโน้มต่อเนื่อง จากโครงสร้างการนำเข้าของไทยยังต้องพึ่งพาพลังงานและสินค้าทุนที่มีมูลค่าสูง รวมถึงสินค้าจีนราคาถูกที่เข้ามาตีตลาด
        อย่างไรก็ตาม ไทยสามารถลดการขาดดุลการค้าได้หากมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือไฮบริดมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดในประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยลดการนำเข้าพลังงานของไทยได้

 


Click
 ชมคลิป ปี 2024 คาดไทยขาดดุลการค้าต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 จากปัญหาเชิงโครงสร้าง

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest