Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 กันยายน 2563

Econ Digest

น้ำดื่มผสมวิตามิน เซกเมนต์ใหม่…บุกตลาดเครื่องดื่ม

คะแนนเฉลี่ย

​            ​ธุรกิจเครื่องดื่มของไทยที่ระยะหลังเริ่มเติบโตในทิศทางที่ชะลอ แต่สำหรับเครื่องดื่มสุขภาพคาดว่าจะยังเป็นกลุ่มสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ ทั้งนี้ น้ำดื่มผสมวิตามิน คือเครื่องดื่มกลุ่ม Water Plus ซึ่งเป็นเซกเมนต์ใหม่ในตลาดเครื่องดื่มที่น่าจับตา จากจุดเด่นสำคัญคือ ใส ไร้สี ดับกระหายได้เช่นเดียวกับน้ำเปล่า แต่ให้สารอาหารเพิ่มเข้ามา อาทิ วิตามิน B และ C ซึ่งร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ รวมถึงสารอาหารอื่น ซึ่งอาจทำให้มีกลิ่นหรือรสชาติที่แตกต่างจากน้ำเปล่า แต่ให้พลังงานและน้ำตาลน้อยมาก ตอบรับกับเทรนด์สุขภาพได้ดี​


           ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความนิยมน้ำดื่มผสมวิตามิน ในฝั่งผู้บริโภค เกิดจากการตื่นตัวกับการดูแลตัวเองและต้องการเสริมภูมิคุ้มกันจากภาวะแวดล้อมในชีวิตปัจจุบัน ทั้งที่มาจากโรคภัยและการใช้ชีวิตแบบวิถีคนเมือง ในขณะที่ฝั่งผู้ประกอบการ ถือเป็นการยกระดับการพัฒนาสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและความสามารถในการทำกำไร จากน้ำดื่มบรรจุขวด-น้ำแร่ ไปสู่น้ำดื่มผสมสารอาหาร (Water Plus) อีกทั้งยังเป็นช่องว่างทางการตลาดใหม่ๆ สำหรับผู้ประกอบการบางกลุ่มที่พยายามปรับตัวให้สอดรับกับนโยบายภาครัฐที่หันมาคุมเข้มมากขึ้นในกลุ่มสินค้าที่มีผลต่อสุขภาพมากขึ้น (การปรับอัตราภาษีแอลกอฮอล์/ภาษีความหวาน) ซึ่งส่งผลให้สินค้าเดิมในตลาดที่เข้าข่าย อาทิ น้ำอัดลม ชาเขียว น้ำผลไม้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จำเป็นต้องปรับแผนการผลิต หลังจากเผชิญกับต้นทุนทางธุรกิจที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น

            เบื้องต้นประเมินว่า ปี 2563 ตลาดเครื่องดื่มผสมวิตามินในไทยจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5,500 ล้านบาท[1] หรือคิดเป็นส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 1.2 ของมูลค่าเครื่องดื่มทั้งหมดของไทย และคาดว่ามูลค่าตลาดจะขยับขึ้นเป็นประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาทในปี 2564

ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางด้านการแข่งขัน (Competitive Landscape) จะพบว่า มูลค่าตลาดเครื่องดื่มผสมวิตามินที่มีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นนั้น คงมาจากการขยายตัวด้านปริมาณและระดับราคาสินค้าที่อยู่จัดอยู่ในกลุ่มน้ำดื่มบรรจุขวดพรีเมียมที่มีราคาสูง ซึ่งมีส่วนช่วยผลักดันการเติบโตของภาพรวมตลาดเครื่องดื่มหลังจากอิ่มตัวมาสักระยะหนึ่ง แต่คงไม่ได้เติบโตแบบก้าวกระโดด สาเหตุที่อาจจะเป็นเช่นนั้นมาจาก

  • การขยายตัวด้านปริมาณที่เพิ่มขึ้น น่าจะมาจากการ Switching ประเภทเครื่องดื่มของผู้บริโภคจากสินค้าทดแทน 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มเครื่องดื่มฟังก์ชั่นนอลดริงก์ ที่ชูจุดขายการเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพเช่นเดียวกับน้ำดื่มวิตามิน แต่อาจจะมีปริมาณน้ำตาลหรือให้พลังงานที่มากกว่า 2) กลุ่มน้ำแร่ ซึ่งเป็นน้ำดื่มบรรจุขวดพรีเมียม ซึ่งการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคมาจากการให้ความสำคัญด้านคุณภาพและความตระหนักด้านผลลัพธ์ด้านสุขภาพเช่นเดียวกับน้ำดื่มผสมวิตามิน โดยทั้งสองประเภทมีระดับราคาและกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใกล้เคียงกับน้ำดื่มผสมวิตามิน สะท้อนให้เห็นว่า มูลค่าตลาดเครื่องดื่มวิตามินจะเพิ่มขึ้น น่ามาจากการแย่งส่วนแบ่งตลาดและทำให้มูลค่าตลาดของเครื่องดื่มกลุ่มดังกล่าวลดลง (ภายใต้เงื่อนไขอัตราการบริโภคเครื่องดื่มของผู้บริโภคไม่เพิ่ม)
  • ระดับความรุนแรงของการแข่งขันด้านราคาที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ทั้งจากผู้เล่นเดิมในธุรกิจเครื่องดื่มที่อาจจะข้ามสายการผลิต หรือสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่-เจาะลูกค้ากลุ่มใหม่ เพื่อเพิ่มอัตราการทำกำไรให้กับธุรกิจมากขึ้น รวมถึงผู้เล่นรายใหม่ข้ามธุรกิจที่มองเห็นโอกาสทางการตลาดและต้องการแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด เช่น ธุรกิจอาหาร ธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพและความงาม (อาหารเสริม โรงพยาบาล) เป็นต้น ดังนั้น ด้วยจำนวนผู้เล่นที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะหากผู้เล่นรายใหญ่ที่มีความได้เปรียบเรื่องช่องทางการจำหน่ายที่เข้าถึงผู้บริโภคและจุดแข็งด้านการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดการขายผ่านกิมมิกต่างๆ ลงมาแข่งขันในตลาดนี้ ในที่สุดแล้วจะนำไปสู่การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งกดดันต่อความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการ รวมถึงอัตราการเติบโตของตลาดในระยะต่อไป  

    สำหรับภาพรวมตลาดเครื่องดื่มในประเทศของไทยปี 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าน่าจะอยู่ที่ระดับ 4.45 แสนล้านบาท หดตัวร้อยละ 3.0 (YoY)[2] จากการหดตัวของกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นหลัก ซึ่งโดยรวมตลาดเครื่องดื่มได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ที่กระทบกับช่องทางการขายซึ่งถูกจำกัดในช่วง Lockdown และกำลังซื้อผู้บริโภคที่ยังอ่อนแรงตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการพลิกกลับมาหดตัวในรอบ 10 ปี อย่างไรก็ดี ปี 2564 คาดว่า มูลค่าตลาดเครื่องดื่มในประเทศน่าจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย

     



[1] ประมาณการจากยอดขายของผู้ประกอบการในตลาดเครื่องดื่มผสมวิตามินในไทย

[2] แบ่งเป็นกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 1.67 แสนล้านบาท (-8.3%YoY) และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 2.78 แสนล้านบาท (+0.6%YoY)




Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest