ต้นทุนการผลิตอาหารและเครื่องดื่มของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนและปัญหาคอขวดห่วงโซ่อุปทาน นำมาสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในการจัดสรรงบประมาณการใช้จ่ายที่แตกต่างกันตามความจำเป็น โดย 3 กลุ่มสินค้าที่มีการปรับราคาขึ้นสูงสุดได้แก่ น้ำมันพืช เนื้อสัตว์/ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ (รวมผลิตภัณฑ์นมและไข่) และเครื่องดื่ม รองลงมาคือ ผัก ผลไม้ อาหารสำเร็จรูปและอาหารทะเล ซึ่งในแง่ของการบริโภค ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในภาวะค่าครองชีพเพิ่มและการแข่งขันที่รุนแรง การบริโภคอาหารและเครื่องดื่มของไทยในปี 65 น่าจะทรงตัวหรือหดตัว 0.6% โดยในแง่ของการใช้จ่าย มูลค่าน่าจะอยู่ที่ 2.57-2.59 ล้านล้านบาท หรือขยายตัว 1.9%-2.7% จากปี 64 เนื่องจากราคาสินค้ามีการปรับขึ้นประมาณ 3.1% ตามต้นทุนการผลิตที่ยืนสูง สวนทางกับการบริโภคที่คาดว่าจะทรงตัวหรือหดตัวเล็กน้อยที่ 0.6%
สำหรับกลุ่มสินค้าที่คาดว่ามูลค่าการใช้จ่ายจะยังเพิ่มขึ้นจากปี 64 ได้แก่ น้ำมันพืช เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนมและไข่ ซึ่งปริมาณการบริโภคอาจลดลงได้ไม่มากเพราะเป็นสินค้าจำเป็น ส่วนกลุ่มสินค้าที่คาดว่ามูลค่าการใช้จ่ายจะชะลอตัว ได้แก่ ผัก ผลไม้ และอาหารสำเร็จรูป เนื่องจากมีความจำเป็นไม่เท่ากลุ่มแรก ผู้บริโภคจึงอาจลดปริมาณการซื้อลงเพื่อให้เพียงพอกับงบประมาณที่ตั้งไว้ ส่วนกลุ่มสินค้าที่คาดว่ามูลค่าการใช้จ่ายจะขยายตัวแต่ปริมาณการบริโภคอาจมีแนวโน้มลดลง ได้แก่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์จากธัญพืช อาหารทะเลและผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล
Scan QR Code
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น