Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 กันยายน 2564

Econ Digest

มังคุดไทย 64 คาดมูลค่าส่งออกโต 14.6-18.8%

คะแนนเฉลี่ย

         ​มูลค่าการส่งออกมังคุดไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 64 ขยายตัวกว่า 21.8% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แม้ปริมาณการส่งออกจะลดลงจากภาวะอุปทานหยุดชะงัก (Supply Disruption) เนื่องจากขาดแคลนแรงงานเข้าไปเก็บผลผลิตอันเป็นผลพวงจากการระบาดของโควิด 19 ขณะที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงเดือน มิ.ย. ถึง ส.ค. คิดเป็นกว่า 76.7%  ของปริมาณผลผลิตทั้งปี  ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า มูลค่าการส่งออกมังคุดของไทยในปี 64 น่าจะอยู่ที่ราว 540-560 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัว 14.6-18.8% จากปัจจัยหนุนของราคาส่งออกเป็นหลัก  โดยในช่วงสี่เดือนสุดท้าย มูลค่าการส่งออกมังคุดสดของไทยน่าจะปรับตัวลดลงตามผลผลิตที่ทยอยออกสู่ตลาดน้อยลงตามลำดับ สำหรับในแง่ของคู่แข่ง คงต้องจับตาอินโดนีเซียที่มีผลผลิตมังคุดใกล้เคียงกับไทยและกำลังเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดในจีนมากขึ้น  แต่ไทยจะยังสามารถครองส่วนแบ่งตลาดในจีนไว้ได้เป็นอันดับ 1 ด้วยความได้เปรียบด้านราคาที่ถูกกว่า ทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้จีนทำให้การขนส่งสะดวก มีความสดใหม่ได้คุณภาพ รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ และความเชี่ยวชาญในตลาดผลไม้ของไทยในจีน ซึ่งในระยะข้างหน้า หากอินโดนีเซียสามารถเพิ่มปริมาณการส่งออกได้อย่างก้าวกระโดด ก็อาจกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทย โจทย์ในระยะกลางจึงอยู่ที่การเร่งผลักดันให้ไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน โดยการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์มังคุดควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่เข้ามาช่วย    

ในส่วนของ Supply Disruption ที่แม้จะเป็นผลกระทบในระยะสั้น และมีแนวโน้มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แต่สามารถอาศัยบทเรียนจากการขาดแคลนแรงงานที่เกิดกับผลผลิตอย่างมังคุด ไปปรับใช้กับพืชหรือผลไม้ชนิดอื่นในฤดูกาลถัดไป ซึ่งการเก็บเกี่ยวผลผลิตนับเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้แรงงานมากที่สุดในการผลิตสินค้าเกษตร คิดเป็นสัดส่วนต้นทุนการใช้แรงงานราว  42.7% ของต้นทุนผันแปรค่าจ้างแรงงานทั้งหมด ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมองว่า ควรมีการวางแผนรับมือถึงผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยวที่อาจเกิดขึ้นได้อีกเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม ซึ่งภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและจัดสรรแรงงานอย่างเป็นระบบ ด้วยการสนับสนุนต้นทุนการผลิตในส่วนของแรงงาน รวมไปถึงการให้ทักษะในการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest